วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

มงคล 8 สิริ 8 -02

ต่อจากบทความที่แล้ว  สิริและมงคล 8 (ภาคที่ 1) ว่า มงคล 8 ประการแบ่งแยกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ สิ่งที่ถือว่าเป็นมงคล  และสิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของมงคล โดย สิ่งที่ถือว่าเป็นมงคล 8 ประการ
             1. ใบเงิน  หมายถึง ความมั่งคั่ง
             2. ใบทอง  หมายถึง ความมั่งคั่ง
             3. ใบนาค  หมายถึง ความมั่งคั่ง
             4. ใบพรหมจรรย์ หมายถึง ความบริสุทธิ์สะอาด
             5. หญ้าแพรก หมายถึง ความเจริญงอกงามรวดเร็ว
             6. ฝักส้มป่อย หมายถึง การล้างโรคภัย
             7. ผิวมะกรูด หมายถึง ทำให้สะอาด
             8. ใบมะตูม หมายถึง เทพพรของพระเป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์ทั้งสาม คือ พระศิวะ     พระนารายณ์ และพระพรหม
สิ่งที่ถือว่าเป็นมงคล ๘ ประการจะมีปรากฏในหม้อหรือขันเทพมนต์ของพราหมณ์ หรือในหม้อในขันและในบาตรพระพุทธมนต์ที่เกี่ยวกับพิธีทางศาสนาโดยทั่วไป

       ส่วน สิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของมงคล 8 ประการ ซึ่งมีประวัติผูกพันกับคติประเพณีของพราหมณ์รามวงศ์นำมาเผยแพร่ ได้แก่
       1 ตะบอง (คทา )       2. สังข์         3. จักร        4. ขอช้าง        5. ธงชัย (ธงชาย)
       6.กรอบหน้า             7. โคอุสภะ   8. หม้อน้ำ
สิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของมงคล 8 อย่างนี้ กล่าวกันว่ามีประวัติผูกพันกับคติประเพณีของพราหมณ์รามวงศ์นำมาเผยแพร่ ซึ่งมีชี่อเป็นภาษาบาลีว่าอัฎฐพิธมงคล ซึ่งแปลว่ามงคล 8 ประการนั่นเอง

vinayak-vanich.blogspot.com

       1.ตะบอง หรือคทา หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงอธิบายว่า “เป็นศาตราวุธอย่างหนึ่งของพระนารายณ์เป็นเจ้า” ตำราโบราณอธิบายเก็บความได้ว่า “ตะบองเดิมเป็น เทพวราวุธของพระพรหม ทำจากเถาวัลย์บนยอดเขาพระสุเมรุ พระนารายณ์ได้เสด็จไปพบเข้า จึงถอนเอามาด้วยพละกำลังอันแรงกล้า แล้วบิดให้เถาวัลย์นั้นเข้ารวมกันจนเป็นเกลียว แล้วถวายพระพรหมเพื่อทรงใช้เป็นเทพวราวุธคู่พระหัตถ์ ต่อมาพระพรหมถวายแด่พระอิศวร ตะบองนี้มีอานุภาพมากเป็นที่หวั่นเกรงของหมู่ยักษ์และภูตผีปิศาจ” เรื่องตะบองศักดิ์สิทธิ์นี้ได้ถูกจำลองมาทำด้วยใบลานหรือใบตาลเป็นรูปแบนๆ เรียกว่า “ตะบองเพชร” ตรงปลายทำเป็นหงอน ซึ่งความจริงเป็นรูปพรหมสี่หน้า แต่ทำพอเป็นเลาๆ จึงไม่เห็นชัด ในเวลาโกนจุกเด็กๆ พราหมณ์จะให้เด็กถือตะบองดังกล่าวนี้ไว้เพื่อป้องกันสรรพภัยพิบัติ และช่วยให้เกิดสิริมงคล และในพระราชพิธีตรุษสมัยก่อน ผู้ฟังสวดภาณยักษ์ จะได้รับแจกตะบองเพชร  (ใบลาน) ให้ถือกันด้วย


       2.จักร เป็นเทพวราวุธของพระอิศวรมีรูปเป็นวงกลม อย่างวงล้อและมีแฉกโดยรอบ ๙ แฉก เวียนไปทางขวาเป็น ทักษิณาวัตร ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงอธิบายว่า เป็นศาตราวุธของพระนารายณ์ ตำราเก่าเล่าความเป็นมาและความศักดิ์สิทธิ์ของ “จักร” ไว้เป็นใจความว่า “พระอิศวรทรงสร้างเทวดานพเคราะห์ขึ้น ๙ องค์ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระเสาร์ พระพฤหัสบดี พระราหู พระศุกร์ และพระเกตุ ให้อยู่ในวิมาน ๙ วิมาน มีหน้าที่ตระเวนรอบจักรราศี ซึ่งแบ่งออกเป็น ๑๒ ราศี โดยเทวดานพเคราะห์ทั้ง ๙ องค์ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปตามลำดับนับตั้งแต่พระอาทิตย์ไปจนพระเกตุ และเทวดานพเคราะห์นั้นอาจบันดาลให้มนุษย์ประสบผลดีผลชั่วได้ ดังนั้นจึงถือว่าเป็นจักราวุธของพระอิศวร และถูกจำลองมาเป็นจักรมี ๙ แฉก แยกตามลำดับดาวนพเคราะห์ เช่น แฉกที่ ๑ พระอาทิตย์ แฉกที่ ๒ พระจันทร์ เรียงลำดับไป ดังนั้นผู้ที่ต้องการบำบัดทุกข์ภัยที่เกิดขึ้น จึงประกอบพิธีกรรมบวงสรวงเทวดา และนำจักร ๙ แฉกซึ่งถือว่าเป็นเทพวราวุธของพระอิศวร จัดเป็นสิ่งมงคล แทนเทวดาทั้ง ๙ เข้าร่วมในพิธีกรรม”
(จักร (อักษรเทวนาครี: चक्रं, ภาษาปัญจาบ: chakkar, ภาษามาเลย์: cakera), เป็นอาวุธที่มีต้นกำเนิดในอินเดีย รูปร่างเป็นโลหะแบน เป็นวงกลม [1] จักรในภาษาไทยมาจากภาษาสันสกฤต หมายถึงล้อ หรือวงกลม ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ และเป็นอาวุธของพระนารายณ์ชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นรูปคดเคี้ยว 8 แฉก และมีลวดลายอยู่ในเส้นวงกลม (จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี))


       3.สังข์  ในคำโคลงเป็น ศรีสังข์ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงอธิบายว่า เป็นศาตราวุธของพระนารายณ์เช่นเดียว กับตะบอง ในตำราของเก่าเล่าว่า “ในปฐมกัลป์ โลกของเรายังว่างเปล่าอยู่ พระอิศวรได้ทรงสร้างสรรพสิ่งต่างๆ ขึ้นมาอีกจนครบถ้วน แล้วก็ทรงพระราชดำริจะสร้างคัมภีร์พระเวทขึ้นไว้คู่กับโลก จึงทรงมีเทวบัญชาให้พระพรหมสร้างขึ้น เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จแล้วก็นำไปถวายพระอิศวรแต่ขณะเสด็จมาเกิดความร้อนพระวรกายและบังเอิญผ่านมหาสมุทร พระพรหมจึงหยุดสรงน้ำ โดยวางพระคัมภีร์ไว้ ณ ริมฝั่งมหาสมุทร ขณะเดียวกัน มีพรหมอีกคู่หนึ่งเป็นคู่อาฆาตกันได้จุติจากพรหมโลกลงมาเกิดเป็นยักษ์หอยสังข์มีชื่อว่า “สังขอสูร” สิงสถิตอยู่ในแถบมหาสมุทรแห่งนั้น เห็นคัมภีร์พระเวท จึงแอบขโมยเอามากลืนเข้าไปไว้ในท้อง แล้วลงไปนอนกบดานนิ่งอยู่ใต้ท้องมหาสมุทร พระพรหมเสด็จขึ้นจากน้ำไม่เห็นคัมภีร์พระเวท ตกพระทัยรีบเสด็จไปเฝ้าพระอิศวร กราบทูลให้ทรงทราบ พระอิศวรทรงทราบด้วยพระญาณจึงมีเทวบัญชาให้พระนารายณ์ลงไปปราบและนำคัมภีร์พระเวทคืนมา พระนารายณ์รับโองการแล้ว เสด็จลงไปปราบสังขอสูรโดยอวตารหรือแปลงองค์เป็นปลากรายทอง(มัสยาวตาร)ทรงปราบสังขอสูรได้แล้วแหกอกล้วงเอาพระเวทกลับคืนไปถวายพระอิศวร พระอิศวรจึงสาปว่า ถ้าผู้ใดจะทำการมงคลให้ใช้สังข์เป็นเครื่องหลั่งน้ำมนต์เป็นการประสาทพรจะทำให้เกิดสวัสดิมงคล พวกเป่าสังข์ให้เกิดเสียงดังก็จะเกิดสวัสดิมงคลจนกระทั่งสิ้นเสียงสังข์” สังข์ หรือ หอยสังข์จึงถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของมงคล เพราะจุติมาจากพรหมโลก เคยเป็นที่เก็บพระเวท และ ต้องพระหัตถ์พระนารายณ์มาแล้ว

vinayak-vanich.blogspot.com

        4.ขอช้าง เป็น เทพวราวุธของพระพิฆเณศวร ซึ่งเป็นโอรสของพระอิศวร ขอช้างได้รับความนับถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งมงคลนั้น ตำราเล่าว่า “ในป่าหิมพานต์ ครั้งหนึ่งเกิดมีช้างพลายเชือกหนึ่งชื่อ เอกทันต์ เป็นช้างที่ดุร้ายมีฤทธิ์มากเที่ยวสร้างความเดือดร้อนให้เทวดาและมนุษย์จนอยู่ไม่เป็นสุข ไม่มีใครปราบได้ พระอิศวรจึงทรงมีบัญชาให้พระนารายณ์ลงมาปราบ ช้างเอกทันต์พยายามหลบหนีเพราะรู้ตัวดีว่าสู้ไม่ได้ พระนารายณ์ตามไปจนพบ และทรงใช้บ่วงบาศคล้องเอาช้างเอกทันต์ไว้ได้ แต่เกิดปัญหาว่าบริเวณที่จับช้างได้นั้น เป็นทุ่งกว้างโล่ง ไม่มีต้นไม้หาที่ผูกช้างไม่ได้ ในที่สุดจึงทรงปักตรีศูลอันเป็นเทพศาตราวุธลงไปในดิน แล้วตรัสสั่งให้เทพศาตราวุธนั้นเป็นต้นไม้ใหญ่ ทันใดนั้นเทพศาตราวุธก็กลายเป็นต้นมะตูมใหญ่ จึงทรงผูกช้างไว้กับต้นมะตูมทรมานจนช้างคลายพยศ แล้วเสด็จขึ้นทรงพร้อมกับหักกิ่งมะตูมอันเป็นหนามมาทำเป็นขอช้าง บังคับนำช้างไปเฝ้าพระอิศวร และต่อมา พระนารายณ์ก็ทรงมอบขอช้างนั้นแก่พระพิฆเณศวร เป็นเทพอาวุธประจำพระองค์ดังกล่าวแล้ว ดังนั้นไม้มะตูมจึงถือว่าเป็นมงคล มักจะนำใบมะตูมใส่ลงไปในน้ำมนต์หรือรดน้ำมนต์แล้วก็เอาใบมะตูมทัดหู ด้วยถือว่าเป็นสิริมงคลเหมือนกับขอช้าง”


      5.ธงชัย หรือธงชาย เหตุที่เรียกว่า “ธงชัย” หมายถึง ธงอันจะนำมาซึ่งชัยชนะ เป็นธงที่นำกองทัพ ส่วนที่เรียกว่า ธงชาย นั้นเพราะรูปลักษณะเป็น ธงสามเหลี่ยม มีชายห้อยลงมาเป็น ๓ ชาย ชายหนึ่งหมายถึงพระอิศวร ชายหนึ่งหมายถึง พระนารายณ์ และอีกชายหนึ่งหมายถึงพระพรหม ธงดังกล่าวนี้เป็นธงนำกองทัพเทวดา ยกออกไปรบยักษ์ และได้ชัยชนะเป็นประจำ ธงชายจึงมาเป็นธงชัย ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของธงชัยไปบ้าง ดังธงชัยประจำกองทัพ กองพัน ธงประจำองค์พระมหากษัตริย์ในการเสด็จพระราชดำเนินขบวนพยุหยาตรา ธงชัย หรือ ธงชาย จึงเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งอันเป็นมงคลประการหนึ่ง


   
  6. กรอบหน้า เป็นสัญลักษณ์ของมงคล โดยหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงอธิบายว่า “เครื่องประดับหัวอันเป็นหลักของกาย”  ส่วนคำโบราณของเก่าอธิบายพอเก็บความได้ว่า “กรอบหน้ามีความสัมพันธ์กับหญ้าแพรกและสายสิญจน์”
กล่าวคือ หญ้าแพรกที่ถือว่าเป็นใบไม้มงคลอย่างหนึ่งนั้นมีกำเนิดมาจากบัลลังก์อาสน์ของพระนารายณ์ซึ่งบรรทมหลับอยู่เหนือ หลังพญานาคที่ขดตัวเป็นวงเป็นแท่นบัลลังก์ เมื่อพระนารายณ์เสด็จลงมาช่วยมนุษย์แล้วก็จะเสด็จกลับไปบรรทม ณ แท่นบัลลังก์พญานาคเป็นเวลานานมากๆ นานมากจนกระทั่งปรากฏว่า หนวดของพญานาคได้เจริญงอกงามและยาวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อยาวมากก็หลุดลอยไปตามกระแสน้ำ บ้างก็มาติดอยู่ตามชายฝั่งทะเล แล้วกลายเป็นหญ้าแพรก ภายหลังมนุษย์รวมเหตุที่มาของหญ้าแพรก เกิดความศรัทธาว่าเป็นมงคล จึงเอามาทำเป็นมงคลบ้าง สายสิญจน์บ้าง ถักทำเป็นครอบหน้าสวมศีรษะบ้าง ซึ่งในเวลาต่อมามงคลและสายสิญจน์ได้ถูกเปลี่ยนจากหญ้าแพรกเป็นด้ายดิบในปัจจุบัน รวมทั้งกรอบหน้าก็ได้เปลี่ยนจากหญ้าแพรกมาเป็นสิ่งอื่นจนถึงเป็นโลหะเช่นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมงคลสิ่งหนึ่ง


vinayak-vanich.blogspot.com

       7.โคอุสภะ บางแห่งเรียกว่า โคอุสภราช เป็นพาหนะของพระอิศวร ดังนั้นเมื่อจะทำการมงคลใดๆ จึงนิยมเอามูลโคมาเจิมที่หน้าผากเพื่อให้เกิดสิริมงคล แต่เมื่อประเพณีดังกล่าวแพร่มาถึงเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงมูลโคเป็นแป้งกระแจะละลายในน้ำหอมแทน เหตุที่เจิมตรงหน้าผาก ก็เพราะเชื่อว่าที่หน้าผากนั้นเป็นที่อยู่ของสิริประจำตัวมนุษย์ทุกคน หรือบางท่านกล่าวว่าตรงหน้าผากเป็นที่สถิตของดวงตาที่ ๓ ของพระอิศวร จึงเจิมตรงนั้นให้เป็นสิริมงคลหรือเป็นสัญลักษณ์ของมงคลอย่างหนึ่ง

     
vinayak-vanich.blogspot.com

8.หม้อน้ำ ถือกันว่า พระอุมาซึ่งเป็นมเหสีพระอิศวร ทรงเลี้ยงโลกมาด้วยน้ำนมจากพระถันยุคล จึงจำลองมาเป็นหม้อน้ำมนต์ หรือครอบน้ำมนต์ มีน้ำเต็ม บางแห่งเรียกว่าเต้าน้ำมนต์ และใน หม้อน้ำมนต์ หรือครอบน้ำมนต์ แม้บาตรน้ำมนต์ก็มักจะใส่สิ่งอันเป็นมงคล คือ ใบทอง ใบเงิน ใบนาค ใบพรหมจรรย์ ฝักส้มป่อย หญ้าแพรก ผิวมะกรูด และใบมะตูม หรือจะใช้ดอกบัว ลอยแทนก็ได้ จะลอย ๕ ดอก ๓ ดอก หรือดอกเดียวก็ได้ตามขนาดของที่บรรจุน้ำมนต์ การใช้ดอกบัวลอยเป็นอีกคติหนึ่ง คือ สมมุติว่าน้ำนั้นได้มาจากสระโบกขรณี หม้อน้ำมนต์ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งสิ่งอันเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งอย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่าการทำบุญส่วนใหญ่มักจะมีหม้อน้ำมนต์ หรือครอบน้ำมนต์ตั้งอยู่ด้วยเสมอ ไทยเราสมัยโบราณ มักจะมีหม้อใส่น้ำเต็มตั้งไว้หน้าพระในห้องพระเสมอ และนำน้ำนั้นมาล้างหน้า โดยถือว่าเป็นน้ำมนต์เพราะก่อนนอนคนไทยมักจะสวดมนต์ไหว้พระเสมอ

       เรื่องมงคล ๘ ประการ เป็นคติความเชื่ออันเกิดจากศาสนาพราหมณ์ แต่ยังเป็นความเชื่อที่พุทธศาสนิกชนนิยมนับถืออยู่ และถือว่าจะบันดาลความสุขให้ตน แถมอีกนิดสำหรับมงคล 8 ประการ โดย หลวงปู่เกลี้ยง เตชธัมโม วัดโนนแกด ซึ่งท่านว่าตามนี้

       1. ล้างเท้าก่อนนอน
       2. ผ้านุ่งห้ามเช็ดหน้า
       3. ห้ามลอดราวตากผ้า
       4. ขี้ เยี่ยว ห้ามหันไปทางทิศตะวันออก – ตก
       5. วันพระห้ามร่วมประเวณี
       6. ขึ้น – ลงบันได ให้สุดก่อน ห้ามพูดระหว่าง อยู่บันได
       7. เวลานอนห้ามนอนกลับหัวกลับหาง
       8. ส้มตำอยู่ในครก ห้ามใช้มือหยิบกิน

ขอให้มีความสุขทุกคนครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น