วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

MahaKashyapa-พระมหากัสสปะเถระ


สวัสดีครับ ตอนที่ทางจังหวัดนครปฐม ได้จัดงาน 100 ปีพระราชวังสนามจันทร์ เมื่อหลายปีก่อน ผมได้มีโอกาสได้ไปเดินเที่ยวในงานด้วย มีงานศิลปะมากมายให้ได้ชมรวมทั้งภาพนี้ที่ท่านผู้อ่านเห็นอยู่นี้ สวยงามครับ เก็บภาพมาได้แต่ลืมจดว่าใครเป็นผู้วาด กลับมาดูอีกครั้งนึง ในภาพเห็นเท้า(พระบาท)ยื่นออกมา และมีพระสงฆ์องค์นึงจับเท้านั่นไว้ จึงให้อยากรู้ครับว่า ศิลปินท่านที่วาดภาพนี้อยากเล่าเรื่องราวอะไรให้เราทราบ แถมยังมี พระอินทร์และพระพรหม นั่งประทับ อยู่ ณ.ที่นั้นด้วย ผมก็เริ่มหาข้อมูลจากหลายที่หลายแหล่งพอที่จะรวบรวมเรื่องราวได้ตามนี้ครับ





  "ครั้นเรียบร้อยแล้ว ก็อัญเชิญหีบทองนั้นขึ้นประดิษฐานบนจิตรกาธาร ทำสักการบูชา แล้วกษัตริย์มัลลราชทั้ง 8 องค์ ผู้เป็นประธานกษัตริย์ทั้งปวง ก็นำเอาเพลิงเข้าจุด เพื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เพลิงก็ไม่ติดตามประสงค์ แม้จะพยายามจุดเท่าใดก็ไม่บรรลุผล มัลลกษัตริย์มีความสงสัย จึงได้เรียนถามพระอนุรุทธเถระเจ้าว่า "ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ ด้วยเหตุอันใด เพลิงจึงไม่ติดโพลงขึ้น" "เป็นเหตุด้วยเทวดาทั้งหลาย ยังไม่พอใจให้ถวายพระเพลิงก่อน" พระอนุรุทธะเถระกล่าว "เทวดาต้องการให้คอยท่าพระมหากัสสปเถระ หากพระมหากัสสปเถระยังมาไม่ถึงตราบใด ไฟจะไม่ติดตราบนั้น" "ก็พระมหากัสสปเถระเจ้า ขณะนี้อยู่ที่ไหนเล่า ท่านผู้เจริญ" "ดูกรมหาบพิตร ขณะนี้ พระมหากัสสปะเถระ กำลังเดินทางมา ใกล้จะถึงอยู่แล้ว" พระเถระกล่าว กษัตริย์มัลลราชทั้งหลาย ก็อนุวัตรตามความประสงค์ของเทวดา พักคอยท่าพระมหากัสสปเถระเจ้าอยู่" ที่เห็นในภาพเป็นงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีภิกษุและเทวดามาร่วมอยู่ในงานด้วยแต่ยังขาดพระภิกษุอีก 1 องค์คือ พระมหากัสสปเถระ แล้วตอนนี้ท่านอยู่ที่ไหน

  "พระมหากัสสปเถระได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่ ณ เมืองปาวาพร้อมด้วยหมู่ศิษย์จำนวนมาก เมื่อได้ทราบข่าวนั้น เหล่าศิษย์ของพระมหากัสสปะซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้น จึงมีพระภิกษุบวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะ ได้กล่าวขึ้นว่า "หยุดเถิด หยุดเถิด ท่านอย่าร่ำไรไปเลย พระสมณะ นั้นพ้น (ปรินิพพาน) แล้ว เราจะทำอะไรก็ได้ตามพอใจ ไม่ต้อง เกรงบัญชาใคร" พระมหากัสสปะได้ฟังเช่นนั้น คิดจะทำนิคคหกรรม (ทำโทษ) แต่เห็นว่ายังมิควรก่อน และดำริขึ้นว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 7 วัน ก็มีผู้คิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัยเช่นนี้ จึงควรจะทำการสังคายนาและจะชักชวนพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้มาประชุมกัน เพื่อช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วตกลงวางมติไว้ จากนั้นท่านจึงเดินทางไปยังเมืองกุสินาราเพื่อเป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ"

  "เมื่อพระมหากัสสปะและภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางมาถึงสถานที่ถวายพระเพลิงมกุฏพันธนเจดีย์แล้ว ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี กระทำประทักษิณ รอบเชิง ตะกอน ๓ รอบ พระมหากัสสปะเปิดผ้าทางพระบาทแล้ว ถวายบังคมพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้า โดยท่านกำหนดว่าตรงนี้เป็นพระบาทแล้ว เข้าจตุตถฌาน อันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากฌานแล้วอธิษฐานว่า "ขอพระยุคลบาท ของพระองค์ที่มีลักษณะเป็นจักรอันประกอบด้วยซี่พันซี่ ขอจงชำแรกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ พร้อมทั้งสำลี ไม้จันทน์ ออกเป็นช่อง ประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าของข้าพระองค์ด้วยเถิด" เมื่ออธิษฐานเสร็จ พระยุคลบาทก็แหวกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ออกมา พระเถระจับยุคลบาทไว้มั่น และน้อมนมัสการเหนือเศียรเกล้าของตน มหาชนต่างเห็นความอัศจรรย์นั้น ก็ส่งเสียงแสดงความอัศจรรย์ใจ เมื่อพระเถระและภิกษุ ๕๐๐ รูป ถวายบังคมแล้ว ฝ่าพระยุคลบาทก็เข้าประดิษฐานในที่เดิม ครั้นแล้วเปลวเพลิงก็ลุกโพลงท่วมพระสรีระของพระศาสดา ด้วยอำนาจของเทวดา ในการเผาไหม้นี้ ไม่มีควันหรือเขม่าใดๆฟุ้งขึ้นเลย เมื่อเพลิงใกล้จะดับ ก็มีท่อน้ำไหลหลั่งลงมาจากอากาศ และมีน้ำพุ่งขึ้นจากกองไม้สาละ ดับไฟที่ยังเหลืออยู่นั้น"
  ได้เรื่องครบกระบวนการครับขอนุญาตสรุปตามเข้าใจของผมว่า ภาพที่ทางศิลปินท่านวาดเป็น ภาพพระมหากัสสปะเปิดผ้าทางพระบาทแล้ว ถวายบังคมพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้า ในงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ นอกจากนั้นผมยังได้ความรู้ว่าพระมหากัสสปะ ท่านสำคุญอย่างไร ตามนี้ครับ

Mahākāśyapa
Mahākāśyapa (Photo credit: Wikipedia)

การบวชด้วยการรับโอวาท 
  วิธีบวชอย่างนี้เรียกว่า โอวาทปฏิคคณูปสัมปทา แปลว่า การบวชด้วยการรับโอวาท   ลำดับนั้น พระศาสดาได้บวชให้ท่านด้วยทรงประทานโอวาท ๓ ข้อ คือ
๑. ดูก่อนกัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และความเกรงใจในภิกษุทั้งที่เป็น เถระ ปานกลาง และบวชใหม่
๒. ธรรมใดเป็นกุศล เราจักเงี่ยโสตลงฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความนั้น (ของธรรมนั้น)
๓. เราจักไม่ทิ้งกายคตาสติ คือพิจารณาร่างกาย เป็นอารมณ์ (อยู่เสมอ)  ตั้งแต่นี้ไปเราจะทำอะไรให้ดีกว่านี้อีก จึงได้สมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อ ในสำนักพระศาสดา หลังจากบวชได้ ๘ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

 เอตทัคคะ 
  พระมหากัสสปเถระ ได้รับการสรรเสริญจากพระศาสดาเป็นต้นว่า เปรียบเสมือนด้วยพระจันทร์ เข้าไปยังตระกูลทั้งหลายไม่คะนองกาย ไม่คะนองจิต เป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิตย์ ไม่เย่อหยิ่ง วันหนึ่ง เมื่อประทับนั่ง ในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้า ทรงตั้งพระเถระไว้ในตำแหน่งผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงธุดงค์และกล่าวสอนธุดงค์ว่า ภิกษุทั้งหลาย กัสสปะนี้ เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเรา ผู้ทรงธุดงค์และกล่าวสอนธุดงค์  พระมหากัสสปเถระ เป็นพระสันโดษมักน้อย ถือธุดงค์เป็นวัตร ธุดงค์ ๓ ข้อ ที่ถืออยู่ตลอดชีวิต คือ ๑. ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๒. เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ๓. อยู่ป่าเป็นวัตร การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของท่านจึงไปในทางเป็นแบบอย่างที่ดีของคนรุ่นหลังมากกว่าการแสดงธรรม ท่านได้แสดงคุณแห่งการถือธุดงค์ของท่านแก่พระศาสดา ๒ ประการคือ
๑. เป็นการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
๒. เพื่ออนุเคราะห์คนรุ่นหลัง จะได้ถือปฏิบัติตาม
พระศาสดาทรงประทานสาธุการแก่ท่าน แล้วตรัสว่า เธอได้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ตนแก่ชนเป็นอันมาก ทรงสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเป็นแบบอย่าง ดังนี้
๑. กัสสปะ เข้าไปสู่ตระกูล ชักกายและใจออกห่างประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคยอยู่เป็นนิตย์ ไม่คะนองกายวาจาใจ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลนั้น เพิกเฉย ตั้งจิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภจงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญ จงได้บุญ ตนได้ลาภมีใจฉันใด ผู้อื่นก็มีใจฉันนั้น
๒. กัสสปะ มีจิตประกอบด้วยเมตตา แสดงธรรมแก่ผู้อื่น
๓. ทรงสั่งสอนภิกษุให้ประพฤติดีประพฤติชอบ โดยยกท่านพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่าง

A Chinese sculpted wooden head representing Ka...
A Chinese sculpted wooden head representing Kashyapa, a sage of India, dated from the Tang Dynasty (618–907) (Photo credit: Wikipedia)

ประธานทำสังคายนา
  การทำสังคายนาพระธรรมวิทัยครั้งที่ 1 จึงได้จัดขึ้นที่ถ้ำสัตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ ตามคำปรารภของพระมหากัสสปะเถระ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้เวลาในการสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยอยู่ 7 เดือนจึงแล้วเสร็จ โดยในครั้งนั้น พระมหากัสสปะเถระเป็นประธานทำสังคายนา พระอานนท์เป็นองค์วิสัชชนาแสดงพระธรรมวินัยในหมวด สุตตันตปิฎกและอภิธรรมปิฎก พระอุบาลี เป็นองค์วิสัชชนาพระวินัยปิฎก ซึ่งแนวการวางระเบียบพระธรรมวินัยในครั้งนั้นจัดเป็นรูปแบบที่เรียกว่า พระไตรปิฎก และยังคงมีการรักษาสิ่งที่ได้จัดรวบรวมในครั้งปฐมสังคายนาอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับเถรวาทโดยไม่มีการปรับแก้มาจนปัจจุบัน

  ขอขอบคุณศิลปินนิรนามท่านนี้มากครับที่จุดประกายความคิดและปัญญาให้ผม...ขอบคุณครับ
Enhanced by Zemanta