วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ

ประวัติศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ
         เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชการที่ 1 โปรดเกล้า ฯให้ตั้งการพระราชพิธียกเสาหลักเมือง ตามโบราณราชประเพณีเพื่อเป็นนิมิตรหมายหลักชัยสำคัญประจำพระมหานครราชธานี ณ วันอาทิตย์ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปี ขาล จุลศักราช 1144 ตรงกับสุรทิน ที่ 21  เมษายน พุทธศักราช 2325 เวลา 06.54 นาฬิกา  และต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อเสด็จขึ้นครองราช ทรงตรวจดวงพระชาตาของพระองค์ ซึ่งสถิตอยู่ ณ ราศีกันย์ เป็นอริแก่ลัคณาดวงเมืองกรุงเทพมหานคร เห็นได้ชัดว่าดวงพระชาตาไม่กินกับดวงเมือง พระองค์จึงทรงแก้เคล็ดดวงเมือง โดยโปรดให้ขุดพระหลักเมืององค์เดิม ในการนี้พระองค์ได้โปรดให้ช่างแปลงรูปศาลเสียใหม่จากรูปศาลาเป็นรูปปรางค์ และทรงบรรจุดวงเมืองเดิมลงบนเสาพระหลักเมืองใหม่ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนอ้าย จุลศักราช 1214 ตรงกับสุรทิน ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2395 เวลา 08.48 นาฬิกา

vinayak-vanich

         และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีสังเวยสมโภช เมื่อวันจันทร์ที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2513 เวลา 10.30 นาฬิกา ในการนี้ได้มีการปฏิสังขรณ์ศาลให้สง่างามยิ่งขึ้น โดยได้เปลี่ยนแปลงลักษณะรูปศาลเป็นแบบจตุรมุขส่วน แต่ในส่วนของยอดปรางค์นั้นให้คงไว้เช่นเดิม

         นอกจากพระหลักเมือง ซึ่งเป็นเทพารักษ์สำคัญแล้ว ภายในศาลยังมีเทพารักษ์ผู้พิทักษ์ให้ความร่มเย็นแก่แผ่นดิน และประชาราษฎร์อีก 5 องค์ คือ


         1.พระเสื้อเมือง เป็นเทพารักษ์หล่อสัมฤทธิ์ ปิดทอง สูงประมาณ 93 เซนติเมตร มีหน้าที่คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ คุมกำลังไพล่พลแสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็น สุขปราศจากอริราชศรัตรูมารุกราน
         2.พระทรงเมือง เป็นรูปเทวดาสวมมงกุฎหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทอง สูงประมาณ ๗๕ เซนติเมตร มีหน้าที่รักษาการปกครองและกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ  ดูแลทุกข์สุข ของประชาชน ให้ร่มเย็นเป็นสุขสวัสดี
         3.พระกาฬไชยศรี เป็นเทพารักษ์หล่อสัมฤทธิ์ ปิดทอง สูง 86 เซนติเมตร เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่นำวิญญาณของมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก
         4.เจ้าพ่อเจตคุปต์ เป็นเทพารักษ์แกะสลักด้วยไม้ปิดทองสูง ๑๓๓ เซนติเมตร เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่จดจำความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไปแล้วและอ่านประวัติของผู้ตายเสนอพระยม
         5.เจ้าพ่อหอกลอง เป็นเทพารักษ์หล่อสำริดปิดทอง สูง ๑๐๕ เซนติเมตร มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเกิดขึ้นในแผ่นดิน เป็นต้นว่าคอยรักษาเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน เกิดอัคคีภัยหรือมีข้าศึกศัตรูยกมาประชิดพระนคร




เอกสารอ้างอิง
เอกสารครบรอบ 222 ปี วันสถาปนาองค์พระหลักเมือง 21 เมษายน 2547
โดย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

ผู้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง-พระวิศวกรรม

ผู้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง-พระวิศวกรรม  

       สวัสดีครับ ปีใหม่ผ่านไปพร้อมกับบทความมงคล 2 บทความ คือ มงคล และสิริ 8 -01  กับมงคล และสิริ 8 -02 และที่ผ่านไปอีก อย่างคือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ มหาอุทกภัย ระดับชาติ ที่หลายคนไม่มีทางลืมมันไปได้ ก็อยากให้กำลังใจทุกท่านสู้กับชีวิตในวันข้าง หน้าต่อไปนะครับ ส่วนผมก็ประสบภัยเช่นกันแต่ยังพอปรับตัวได้ ที่จะเสียดายหน่อยก็  hard disk ที่เก็บข้อมูลต่างๆไว้ 3 ลูก จมน้ำเรียบร้อยครับ เหลือที่ติดเครื่องอยู่ลูกเดียวกับ ข้อมูลที่ไม่ประติดประต่อกัน  ก็คิดว่ามีข้อมูลอะไรที่เหลือคงจะโพสท์ขึ้นอินเตอร์เน็ต ดีกว่าขืนเก็บไว้กับตัว ปีหน้ามันจะเหลือหรือเปล่าก็ไม่ทราบให้บังเอิญว่าให้ผมพบรูป พระวิษณุกรรมเก็บไว้ แต่ไม่ทราบที่มาที่ไปว่ามาจากเว็บไหน-ใครเป็นคนวาด แต่ข้อมูลที่มีผู้ค้นคว้าเกียวกับประวัติท่านยังอยู่ติดเครื่องเป็นของ คุณปฏิพันธ์  อุทยานุกูล(สถาบันภาษา  มหาวิทยาลัย ราชภัฏเชียงราย) ก็ขอกล่าวถึงพระวิศวกรรมตามงานค้นคว้าตามนี้



         พระวิศวกรรมนั้นถือเป็นเทพ  "ชั้นผู้ใหญ่"  ที่สถิตย์อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ และเป็นบริวารของพระอินทร์อีกที หนึ่ง  มีชื่ออยู่หลากหลายตามประสาของเทพ  ทั้งพระวิษณุกรรม  พระวิศวกรรมา  พระวิสสุกรรม  วิศวกรรมัน  พระเวสสุกรรม หรือ พระเพชฉลูกรรม  ซึ่งชื่อทั้งหมดที่ว่ามานั้นสามารถกล้อมแกล้มแปลความหมายได้ว่า  "ผู้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง"

         ตำนานเทพเจ้าของฮินดูนั้นกล่าวว่า พระวิศวกรรมมีสามตา  กายสีขาว ทรงอาภรณ์สีเขียว โพกผ้า ในการสร้างรูปเคารพมักจะไม่เหมือนกัน  เช่นบ้างก็สร้างให้พระองค์ถือ คทา  จอบ  ไม้วา  ไม้ฉาก  ผึ่ง (เครื่องมือสําหรับ ถากไม้ รูปร่างคล้ายจอบ แต่มีขนาดเล็กกว่าและด้ามสั้นกว่า)  และลูกดิ่ง  เป็นต้น

         ในพุทธ ศาสนาของเรานั้นพระวิศวกรรมมีบทบาทมาก  ในตำนานเล่าว่า ท่านเป็นผู้สร้างบรรณศาลาและอาศรมให้แก่พระโพธิสัตว์หลายพระองค์  เท่าที่จำได้ก็เห็นจะเป็นพระเวสสันดร  ในมหาเวสสันดรชาดก  เป็นผู้สร้างบันไดเงิน บันไดทอง บันไดแก้วถวายแด่สมเด็จพระสรรญเพชรชุดาญาณสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพื่อใช้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัส-สนคร หลังจากเสร็จภารกิจในการเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ช่วงเข้าพรรษา

         ส่วนในวรรณคดีไทยก็มีปรากฏอยู่หลาย ๆ เรื่องที่พระวิศวกรรมเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะต้องทำตามบัญชาของพระอินทร์ในการช่วยเหลือผู้มีบุญ  เช่นในเรื่องสังข์ทอง(ในปัญญาสชาดกเรียกว่า  "สุวรรณสังขราชกุมาร")  พระอินทร์ก็มีเทวบัญชาให้พระวิศวกรรมไปท้าท้าวสามนต์บิดาของนางจรนาตีคลี  ซึ่งสุดท้ายพระสังข์ก็ต้องถอดรูปเงาะและอาสาออกไปแข่งคลีแทน

         ในรามเกียรติ์ก็บอกว่าเมืองลงกาของทศกัณฐ์และเมืองทวารกาของพระกฤษณะ นั้นก็สำเร็จด้วยฝีมือของพระวิศวกรรมเช่นกัน  และถ้าใครอ่านชื่อเต็มของกรุงเทพฯให้ดีๆ ก็จะพบว่า  พระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้างด้วยนะ ไม่เชื่อลองไปดูคำว่า“…วิษณุกรรมประสิทธิ์”  สิครับ

         อีกตอนหนึ่งที่พระวิศวกรรมมีบทบาทก็คือตอนกำเนิดพระคเณศวร  คือแรกเริ่มเดิมทีพระคเณศก็เหมือนกับกุมารธรรมดาทั่วไปนั่นแหละ  แต่ด้วยวาจาสิทธิ์ของพระนารายณ์ก็เลยทำให้เศียรของพระกุมารคเณศวรขาดหายไป  ครานี้ก็ถึงทีที่พระวิศวกรรมต้องระเห็จไปหาเศียรมาต่อ  ตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ  พอดีไปเจอช้างพลายตัวหนึ่งนอนตายโดยหันหัวไปทางทิศเหนือ  (บ้างก็ว่าทิศใต้)  พระวิศวกรรมก็เลยตัดหัวช้างตัวนั้นแล้วนำมาต่อเข้ากับกายพระกุมารคเณศวร  และพระคเณศวรจึงมีเศียรเป็นช้างแต่นั้นมา

         ในวรรณคดีเรื่องลิลิตนารายณ์สิบปาง  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หก  มีการกล่าวถึงพระวิศวกรรมไว้ในปางที่สอง  กูรมาวตาร  เรื่องของเรื่อก็คือว่ามีการกวนน้ำอมฤตกัน  และเมื่อกวนไป ๆก็เกิดของวิเศษผุดขึ้นมา ได้แก่โคสุรภี  (เทวดายกให้พระฤษีวศิษฐ์)  เหล้า  ต้นไม้ปาริชาต  (พระอินทร์เอาไปเก็บไว้บนสวรรค์)  นางอัปสร  พระจันทร์  (พระอิศวรเอาไปเป็นปิ่นปักผม)  พิษ  (ตอนแรกงูและนาครีบมาสูบ  แต่พระอิศวรกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อโลก  พระองค์ก็เลยเสวยเสียเอง  ทำให้พระศอของพระองค์ไหม้เป็นสีดำ)  พระศรีเทวี  และสุดท้ายน้ำอมฤตก็ตามมา  ในตอนที่พระศรีเทวีหรือพระลักษมีผุดขึ้นมานั้น  พระวิศวกรรมเป็นผู้เนรมิตอาภรณ์ ให้พระนางสรวมใส่  ดังโคลงที่ว่า
                    อันสุรเทพผู้                   ศิลปี
                    วิศวะกรรมาเอก            ช่างนั้น
                    นิรมิตรเครื่องทรงศรี    สุวรรณรัตน์
                    แวววับจับช่อชั้น           นภา
         เมื่อคราวที่พระศรีกำเนิดนั้นปวงเทวาและอสูรต่างหมายปอง  แต่พระนางไม่เหลียวแลใครเลย  พอใส่เสื้อผ้าเสร็จก็ไปถวายบังคมแทบบาทพระวิษณุนารายณ์  พระองค์ก็ทรงโอบกอดรับไว้กับทรวง  ไหน ๆ ก็ก้าวเลยมาถึงตำนานเทพของฮินดูแล้ว  ก็ขอเลยไปถึงเรื่องครอบครัวของพระวิศวกรรมอีกสักนิดก็แล้วกันนะครับ

         พระวิศวกรรมนั้นมีลูกสาวชื่อว่านางสัญชญา  เกิดแต่นางฆฤตาจี  ซึ่งเป็นหนึ่งในนางอัปสร 11  นางที่งามเลิศที่สุด  นางสัญชญาเป็นมเหสีของพระอาทิตย์  ก็อยู่กินด้วยกันนานมาก  แล้วจู่ ๆ วันหนึ่งลูกสาวก็มาบ่นให้พ่อตัวฟังว่าชักจะทนรับรัศมีอันร้อนแรงของพระอาทิตย์ไม่ไหวแล้ว  ด้วยหัวอกของผู้เป็นพ่อที่รักลูกสาว  ก็เลยจับลูกเขยคือพระอาทิตย์มาขูดฉวี  (ผิวกาย)  ออกไปซะส่วนหนึ่ง  (ไม่รู้มากน้อยเท่าใด)  เพื่อลดความร้อนแรงให้น้อยลง  จากนั้นก็เอาส่วนที่ขูดออกมานั้นไปออกแบบเป็นอาวุธนานาชนิดจ่ายแจกแก่เทวดาทั้งหลาย  เช่น  ทำตรีศูลถวายให้พระอิศวร  จักร  สำหรับพระนารายณ์   วชิราวุธ (สายฟ้า)  ให้พระอินทร์ คทา  ให้ท้าวกุเวร และ โตมร (อาวุธสำหรับใช้ซัด - หอก)ให้พระขันทกุมาร เป็นต้น

         บทบาทของนายช่างเอกแห่งสวรรค์ยังไม่หมดนะครับ  เพราะนอกจากจะเป็นนายช่างใหญ่แล้ว  พระวิศวกรรมยังมีความสามารถทางด้านดุริยะดนตรีอีกด้วย  ตามตำนานกล่าวว่า เป็นผู้สร้างเครื่องดนตรีขึ้นใช้ ทำให้เกิดเสียงที่ไพเราะขึ้น ดังนั้น เราจึงเคารพบูชาท่านในฐานะ เป็นครูผู้สร้างสรรค์เครื่องดนตรีให้เกิดขึ้น ตามตำนานเล่าต่อกันมาว่าเมื่อแรกในอดีตกาล มนุษย์ยังไม่มีอารยะธรรมอย่างเช่นทุกวันนี้ การละเล่นและการบันเทิงต่าง ๆ ยังไร้ระบบระเบียบ จะร้องจะเล่นสิ่งใดก็ขาดความไพเราะและความงดงาม จนร้อนถึงพระอินทร์ ด้วยนึกเวทนาเหล่ามนุษย์จึงมีเทวบัญชาให้พระวิศวกรรมนายช่างใหญ่ประจำสวรรค์ ลงมาบอกสอนมนุษย์ให้รู้จักการละเล่นอย่างเหมาะสม พระวิศวกรรมรับเทวโองการแล้วจึงเสด็จลงมายังโลกมนุษย์และจำแลงองค์เป็นชีปะขาวเที่ยวจาริกไป ถึงท้องที่ถิ่นใดก็นำความรู้การละเล่นต่าง ๆ วิชาช่าง รวมถึงวิชาช่างทำเครื่องดนตรีมาสอนแก่มนุษย์ นับแต่นั้นมามนุษย์จึงรู้จักการสร้างและเล่นเครื่องดนตรี จนมีการพัฒนารูปแบบมาจนถึงปัจจุบันนี้

         ในวงการนาฏศิลป์ไทยมีการทำหัวโขนของพระวิศวกรรมด้วย  โดยมีสองแบบคือทำเป็นหน้ามนุษย์ สีเขียวแก่ หรือเขียวใบแค สวมเทริด หรือมงกุฎยอดน้ำเต้า  และ  ทำเป็นหน้ามนุษย์ สีเขียวแก่ หรือเขียวใบแค ศีรษะโล้น มีกระบังหน้าหรือโพกผ้าสีเขียนลายดอกไม้บริเวณผม นัยว่าแบบนี้แสดงถึงช่วงที่ทำงานช่างจึงไม่ทรงเครื่องประดับ แต่มักพบเห็นได้น้อยกว่าแบบแรก…

         (ที่กล่าวมาทั้งหมดนี่ผู้เรียบเรียงต้องการจะรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพระวิศวกรรมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะนึกขึ้นมาได้   และเขียนด้วยภาษาที่เป็นวิชาการน้อยที่สุด  ดังนั้นผู้อ่านที่จะนำไปใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการจึงควรชั่งใจให้จงดี  เพราะข้อผิดพลาดจากการนึกถึงเรื่องราวที่ผู้เรียบเรียงอ่านไว้เมื่อเกือบสิบปีแล้วย่อมจักต้องมีข้อผิดพลาดอยู่บ้างซึ่งก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย)

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

มงคล 8 สิริ 8 -02

ต่อจากบทความที่แล้ว  สิริและมงคล 8 (ภาคที่ 1) ว่า มงคล 8 ประการแบ่งแยกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ สิ่งที่ถือว่าเป็นมงคล  และสิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของมงคล โดย สิ่งที่ถือว่าเป็นมงคล 8 ประการ
             1. ใบเงิน  หมายถึง ความมั่งคั่ง
             2. ใบทอง  หมายถึง ความมั่งคั่ง
             3. ใบนาค  หมายถึง ความมั่งคั่ง
             4. ใบพรหมจรรย์ หมายถึง ความบริสุทธิ์สะอาด
             5. หญ้าแพรก หมายถึง ความเจริญงอกงามรวดเร็ว
             6. ฝักส้มป่อย หมายถึง การล้างโรคภัย
             7. ผิวมะกรูด หมายถึง ทำให้สะอาด
             8. ใบมะตูม หมายถึง เทพพรของพระเป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์ทั้งสาม คือ พระศิวะ     พระนารายณ์ และพระพรหม
สิ่งที่ถือว่าเป็นมงคล ๘ ประการจะมีปรากฏในหม้อหรือขันเทพมนต์ของพราหมณ์ หรือในหม้อในขันและในบาตรพระพุทธมนต์ที่เกี่ยวกับพิธีทางศาสนาโดยทั่วไป

       ส่วน สิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของมงคล 8 ประการ ซึ่งมีประวัติผูกพันกับคติประเพณีของพราหมณ์รามวงศ์นำมาเผยแพร่ ได้แก่
       1 ตะบอง (คทา )       2. สังข์         3. จักร        4. ขอช้าง        5. ธงชัย (ธงชาย)
       6.กรอบหน้า             7. โคอุสภะ   8. หม้อน้ำ
สิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของมงคล 8 อย่างนี้ กล่าวกันว่ามีประวัติผูกพันกับคติประเพณีของพราหมณ์รามวงศ์นำมาเผยแพร่ ซึ่งมีชี่อเป็นภาษาบาลีว่าอัฎฐพิธมงคล ซึ่งแปลว่ามงคล 8 ประการนั่นเอง

vinayak-vanich.blogspot.com

       1.ตะบอง หรือคทา หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงอธิบายว่า “เป็นศาตราวุธอย่างหนึ่งของพระนารายณ์เป็นเจ้า” ตำราโบราณอธิบายเก็บความได้ว่า “ตะบองเดิมเป็น เทพวราวุธของพระพรหม ทำจากเถาวัลย์บนยอดเขาพระสุเมรุ พระนารายณ์ได้เสด็จไปพบเข้า จึงถอนเอามาด้วยพละกำลังอันแรงกล้า แล้วบิดให้เถาวัลย์นั้นเข้ารวมกันจนเป็นเกลียว แล้วถวายพระพรหมเพื่อทรงใช้เป็นเทพวราวุธคู่พระหัตถ์ ต่อมาพระพรหมถวายแด่พระอิศวร ตะบองนี้มีอานุภาพมากเป็นที่หวั่นเกรงของหมู่ยักษ์และภูตผีปิศาจ” เรื่องตะบองศักดิ์สิทธิ์นี้ได้ถูกจำลองมาทำด้วยใบลานหรือใบตาลเป็นรูปแบนๆ เรียกว่า “ตะบองเพชร” ตรงปลายทำเป็นหงอน ซึ่งความจริงเป็นรูปพรหมสี่หน้า แต่ทำพอเป็นเลาๆ จึงไม่เห็นชัด ในเวลาโกนจุกเด็กๆ พราหมณ์จะให้เด็กถือตะบองดังกล่าวนี้ไว้เพื่อป้องกันสรรพภัยพิบัติ และช่วยให้เกิดสิริมงคล และในพระราชพิธีตรุษสมัยก่อน ผู้ฟังสวดภาณยักษ์ จะได้รับแจกตะบองเพชร  (ใบลาน) ให้ถือกันด้วย


       2.จักร เป็นเทพวราวุธของพระอิศวรมีรูปเป็นวงกลม อย่างวงล้อและมีแฉกโดยรอบ ๙ แฉก เวียนไปทางขวาเป็น ทักษิณาวัตร ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงอธิบายว่า เป็นศาตราวุธของพระนารายณ์ ตำราเก่าเล่าความเป็นมาและความศักดิ์สิทธิ์ของ “จักร” ไว้เป็นใจความว่า “พระอิศวรทรงสร้างเทวดานพเคราะห์ขึ้น ๙ องค์ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระเสาร์ พระพฤหัสบดี พระราหู พระศุกร์ และพระเกตุ ให้อยู่ในวิมาน ๙ วิมาน มีหน้าที่ตระเวนรอบจักรราศี ซึ่งแบ่งออกเป็น ๑๒ ราศี โดยเทวดานพเคราะห์ทั้ง ๙ องค์ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปตามลำดับนับตั้งแต่พระอาทิตย์ไปจนพระเกตุ และเทวดานพเคราะห์นั้นอาจบันดาลให้มนุษย์ประสบผลดีผลชั่วได้ ดังนั้นจึงถือว่าเป็นจักราวุธของพระอิศวร และถูกจำลองมาเป็นจักรมี ๙ แฉก แยกตามลำดับดาวนพเคราะห์ เช่น แฉกที่ ๑ พระอาทิตย์ แฉกที่ ๒ พระจันทร์ เรียงลำดับไป ดังนั้นผู้ที่ต้องการบำบัดทุกข์ภัยที่เกิดขึ้น จึงประกอบพิธีกรรมบวงสรวงเทวดา และนำจักร ๙ แฉกซึ่งถือว่าเป็นเทพวราวุธของพระอิศวร จัดเป็นสิ่งมงคล แทนเทวดาทั้ง ๙ เข้าร่วมในพิธีกรรม”
(จักร (อักษรเทวนาครี: चक्रं, ภาษาปัญจาบ: chakkar, ภาษามาเลย์: cakera), เป็นอาวุธที่มีต้นกำเนิดในอินเดีย รูปร่างเป็นโลหะแบน เป็นวงกลม [1] จักรในภาษาไทยมาจากภาษาสันสกฤต หมายถึงล้อ หรือวงกลม ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ และเป็นอาวุธของพระนารายณ์ชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นรูปคดเคี้ยว 8 แฉก และมีลวดลายอยู่ในเส้นวงกลม (จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี))


       3.สังข์  ในคำโคลงเป็น ศรีสังข์ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงอธิบายว่า เป็นศาตราวุธของพระนารายณ์เช่นเดียว กับตะบอง ในตำราของเก่าเล่าว่า “ในปฐมกัลป์ โลกของเรายังว่างเปล่าอยู่ พระอิศวรได้ทรงสร้างสรรพสิ่งต่างๆ ขึ้นมาอีกจนครบถ้วน แล้วก็ทรงพระราชดำริจะสร้างคัมภีร์พระเวทขึ้นไว้คู่กับโลก จึงทรงมีเทวบัญชาให้พระพรหมสร้างขึ้น เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จแล้วก็นำไปถวายพระอิศวรแต่ขณะเสด็จมาเกิดความร้อนพระวรกายและบังเอิญผ่านมหาสมุทร พระพรหมจึงหยุดสรงน้ำ โดยวางพระคัมภีร์ไว้ ณ ริมฝั่งมหาสมุทร ขณะเดียวกัน มีพรหมอีกคู่หนึ่งเป็นคู่อาฆาตกันได้จุติจากพรหมโลกลงมาเกิดเป็นยักษ์หอยสังข์มีชื่อว่า “สังขอสูร” สิงสถิตอยู่ในแถบมหาสมุทรแห่งนั้น เห็นคัมภีร์พระเวท จึงแอบขโมยเอามากลืนเข้าไปไว้ในท้อง แล้วลงไปนอนกบดานนิ่งอยู่ใต้ท้องมหาสมุทร พระพรหมเสด็จขึ้นจากน้ำไม่เห็นคัมภีร์พระเวท ตกพระทัยรีบเสด็จไปเฝ้าพระอิศวร กราบทูลให้ทรงทราบ พระอิศวรทรงทราบด้วยพระญาณจึงมีเทวบัญชาให้พระนารายณ์ลงไปปราบและนำคัมภีร์พระเวทคืนมา พระนารายณ์รับโองการแล้ว เสด็จลงไปปราบสังขอสูรโดยอวตารหรือแปลงองค์เป็นปลากรายทอง(มัสยาวตาร)ทรงปราบสังขอสูรได้แล้วแหกอกล้วงเอาพระเวทกลับคืนไปถวายพระอิศวร พระอิศวรจึงสาปว่า ถ้าผู้ใดจะทำการมงคลให้ใช้สังข์เป็นเครื่องหลั่งน้ำมนต์เป็นการประสาทพรจะทำให้เกิดสวัสดิมงคล พวกเป่าสังข์ให้เกิดเสียงดังก็จะเกิดสวัสดิมงคลจนกระทั่งสิ้นเสียงสังข์” สังข์ หรือ หอยสังข์จึงถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของมงคล เพราะจุติมาจากพรหมโลก เคยเป็นที่เก็บพระเวท และ ต้องพระหัตถ์พระนารายณ์มาแล้ว

vinayak-vanich.blogspot.com

        4.ขอช้าง เป็น เทพวราวุธของพระพิฆเณศวร ซึ่งเป็นโอรสของพระอิศวร ขอช้างได้รับความนับถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งมงคลนั้น ตำราเล่าว่า “ในป่าหิมพานต์ ครั้งหนึ่งเกิดมีช้างพลายเชือกหนึ่งชื่อ เอกทันต์ เป็นช้างที่ดุร้ายมีฤทธิ์มากเที่ยวสร้างความเดือดร้อนให้เทวดาและมนุษย์จนอยู่ไม่เป็นสุข ไม่มีใครปราบได้ พระอิศวรจึงทรงมีบัญชาให้พระนารายณ์ลงมาปราบ ช้างเอกทันต์พยายามหลบหนีเพราะรู้ตัวดีว่าสู้ไม่ได้ พระนารายณ์ตามไปจนพบ และทรงใช้บ่วงบาศคล้องเอาช้างเอกทันต์ไว้ได้ แต่เกิดปัญหาว่าบริเวณที่จับช้างได้นั้น เป็นทุ่งกว้างโล่ง ไม่มีต้นไม้หาที่ผูกช้างไม่ได้ ในที่สุดจึงทรงปักตรีศูลอันเป็นเทพศาตราวุธลงไปในดิน แล้วตรัสสั่งให้เทพศาตราวุธนั้นเป็นต้นไม้ใหญ่ ทันใดนั้นเทพศาตราวุธก็กลายเป็นต้นมะตูมใหญ่ จึงทรงผูกช้างไว้กับต้นมะตูมทรมานจนช้างคลายพยศ แล้วเสด็จขึ้นทรงพร้อมกับหักกิ่งมะตูมอันเป็นหนามมาทำเป็นขอช้าง บังคับนำช้างไปเฝ้าพระอิศวร และต่อมา พระนารายณ์ก็ทรงมอบขอช้างนั้นแก่พระพิฆเณศวร เป็นเทพอาวุธประจำพระองค์ดังกล่าวแล้ว ดังนั้นไม้มะตูมจึงถือว่าเป็นมงคล มักจะนำใบมะตูมใส่ลงไปในน้ำมนต์หรือรดน้ำมนต์แล้วก็เอาใบมะตูมทัดหู ด้วยถือว่าเป็นสิริมงคลเหมือนกับขอช้าง”


      5.ธงชัย หรือธงชาย เหตุที่เรียกว่า “ธงชัย” หมายถึง ธงอันจะนำมาซึ่งชัยชนะ เป็นธงที่นำกองทัพ ส่วนที่เรียกว่า ธงชาย นั้นเพราะรูปลักษณะเป็น ธงสามเหลี่ยม มีชายห้อยลงมาเป็น ๓ ชาย ชายหนึ่งหมายถึงพระอิศวร ชายหนึ่งหมายถึง พระนารายณ์ และอีกชายหนึ่งหมายถึงพระพรหม ธงดังกล่าวนี้เป็นธงนำกองทัพเทวดา ยกออกไปรบยักษ์ และได้ชัยชนะเป็นประจำ ธงชายจึงมาเป็นธงชัย ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของธงชัยไปบ้าง ดังธงชัยประจำกองทัพ กองพัน ธงประจำองค์พระมหากษัตริย์ในการเสด็จพระราชดำเนินขบวนพยุหยาตรา ธงชัย หรือ ธงชาย จึงเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งอันเป็นมงคลประการหนึ่ง


   
  6. กรอบหน้า เป็นสัญลักษณ์ของมงคล โดยหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงอธิบายว่า “เครื่องประดับหัวอันเป็นหลักของกาย”  ส่วนคำโบราณของเก่าอธิบายพอเก็บความได้ว่า “กรอบหน้ามีความสัมพันธ์กับหญ้าแพรกและสายสิญจน์”
กล่าวคือ หญ้าแพรกที่ถือว่าเป็นใบไม้มงคลอย่างหนึ่งนั้นมีกำเนิดมาจากบัลลังก์อาสน์ของพระนารายณ์ซึ่งบรรทมหลับอยู่เหนือ หลังพญานาคที่ขดตัวเป็นวงเป็นแท่นบัลลังก์ เมื่อพระนารายณ์เสด็จลงมาช่วยมนุษย์แล้วก็จะเสด็จกลับไปบรรทม ณ แท่นบัลลังก์พญานาคเป็นเวลานานมากๆ นานมากจนกระทั่งปรากฏว่า หนวดของพญานาคได้เจริญงอกงามและยาวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อยาวมากก็หลุดลอยไปตามกระแสน้ำ บ้างก็มาติดอยู่ตามชายฝั่งทะเล แล้วกลายเป็นหญ้าแพรก ภายหลังมนุษย์รวมเหตุที่มาของหญ้าแพรก เกิดความศรัทธาว่าเป็นมงคล จึงเอามาทำเป็นมงคลบ้าง สายสิญจน์บ้าง ถักทำเป็นครอบหน้าสวมศีรษะบ้าง ซึ่งในเวลาต่อมามงคลและสายสิญจน์ได้ถูกเปลี่ยนจากหญ้าแพรกเป็นด้ายดิบในปัจจุบัน รวมทั้งกรอบหน้าก็ได้เปลี่ยนจากหญ้าแพรกมาเป็นสิ่งอื่นจนถึงเป็นโลหะเช่นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมงคลสิ่งหนึ่ง


vinayak-vanich.blogspot.com

       7.โคอุสภะ บางแห่งเรียกว่า โคอุสภราช เป็นพาหนะของพระอิศวร ดังนั้นเมื่อจะทำการมงคลใดๆ จึงนิยมเอามูลโคมาเจิมที่หน้าผากเพื่อให้เกิดสิริมงคล แต่เมื่อประเพณีดังกล่าวแพร่มาถึงเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงมูลโคเป็นแป้งกระแจะละลายในน้ำหอมแทน เหตุที่เจิมตรงหน้าผาก ก็เพราะเชื่อว่าที่หน้าผากนั้นเป็นที่อยู่ของสิริประจำตัวมนุษย์ทุกคน หรือบางท่านกล่าวว่าตรงหน้าผากเป็นที่สถิตของดวงตาที่ ๓ ของพระอิศวร จึงเจิมตรงนั้นให้เป็นสิริมงคลหรือเป็นสัญลักษณ์ของมงคลอย่างหนึ่ง

     
vinayak-vanich.blogspot.com

8.หม้อน้ำ ถือกันว่า พระอุมาซึ่งเป็นมเหสีพระอิศวร ทรงเลี้ยงโลกมาด้วยน้ำนมจากพระถันยุคล จึงจำลองมาเป็นหม้อน้ำมนต์ หรือครอบน้ำมนต์ มีน้ำเต็ม บางแห่งเรียกว่าเต้าน้ำมนต์ และใน หม้อน้ำมนต์ หรือครอบน้ำมนต์ แม้บาตรน้ำมนต์ก็มักจะใส่สิ่งอันเป็นมงคล คือ ใบทอง ใบเงิน ใบนาค ใบพรหมจรรย์ ฝักส้มป่อย หญ้าแพรก ผิวมะกรูด และใบมะตูม หรือจะใช้ดอกบัว ลอยแทนก็ได้ จะลอย ๕ ดอก ๓ ดอก หรือดอกเดียวก็ได้ตามขนาดของที่บรรจุน้ำมนต์ การใช้ดอกบัวลอยเป็นอีกคติหนึ่ง คือ สมมุติว่าน้ำนั้นได้มาจากสระโบกขรณี หม้อน้ำมนต์ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งสิ่งอันเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งอย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่าการทำบุญส่วนใหญ่มักจะมีหม้อน้ำมนต์ หรือครอบน้ำมนต์ตั้งอยู่ด้วยเสมอ ไทยเราสมัยโบราณ มักจะมีหม้อใส่น้ำเต็มตั้งไว้หน้าพระในห้องพระเสมอ และนำน้ำนั้นมาล้างหน้า โดยถือว่าเป็นน้ำมนต์เพราะก่อนนอนคนไทยมักจะสวดมนต์ไหว้พระเสมอ

       เรื่องมงคล ๘ ประการ เป็นคติความเชื่ออันเกิดจากศาสนาพราหมณ์ แต่ยังเป็นความเชื่อที่พุทธศาสนิกชนนิยมนับถืออยู่ และถือว่าจะบันดาลความสุขให้ตน แถมอีกนิดสำหรับมงคล 8 ประการ โดย หลวงปู่เกลี้ยง เตชธัมโม วัดโนนแกด ซึ่งท่านว่าตามนี้

       1. ล้างเท้าก่อนนอน
       2. ผ้านุ่งห้ามเช็ดหน้า
       3. ห้ามลอดราวตากผ้า
       4. ขี้ เยี่ยว ห้ามหันไปทางทิศตะวันออก – ตก
       5. วันพระห้ามร่วมประเวณี
       6. ขึ้น – ลงบันได ให้สุดก่อน ห้ามพูดระหว่าง อยู่บันได
       7. เวลานอนห้ามนอนกลับหัวกลับหาง
       8. ส้มตำอยู่ในครก ห้ามใช้มือหยิบกิน

ขอให้มีความสุขทุกคนครับ...

วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555

มงคล 8 และ สิริ 8

        สวัสดีครับ บทความแรกของปี 2012 นี้ ขอเริ่มด้วย สิ่งอันเป็นมงคล รับปีใหม่ ซึ่งให้บังเอิญว่า สิ่งต่างเหล่านี้ มักจะรวมกันได้ 8 เช่น มงคล 8 หรือ สิริ 8 อย่างแรก ขอเริ่มจาก ตำราพรหมชาติฉบับสมบูรณ์ โดย สำนักพิมพ์อำนาจสาส์น ว่าด้วยเรื่อง ดิถีฤกษ์ห้ามการกระทำพิธีมงคลและสิริ 8 ประการ

 vinayak-vanich

       สิริ 8 ประการ  นี้ว่า อยู่สำหรับโลก ถ้าผู้ใดรักษาสิริ 8 ประการ นี้ไว้ได้ เทวดาซึ่งเป็นตัวสิริจะมารักษาผู้นั้นแล ถ้าผู้ใดไม่รักษาตามโลกบัญญัติ 8 ประการนี้ เทวดาสามานย์ อันเป็นตัวกาลกิณีจะเข้าแทรกผู้นั้นให้เสียยศศักดิ์ มงคล แม่นกอินทรีย์ บอกสิริ 8 ประการแก่ลูกนกว่า
       คำรบ 1 บุรุษสตรี เว้นจากการเสพกามรสในวัน 8 ค่ำ 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันตรุษสงกรานต์ วันจันทรุปราคา สุริยุปราคา  (ราหูจับพระจันทร์ จับพระอาทิตย์) และวันเกิดของตัว ถ้าผู้ใดรักษาได้ เทวดาอันเป็นสิริมาอยู่รักษาผู้นั้นแล
       คำรบ 2 ว่าผู้ใดบริโภคอาหารให้บ่ายหน้าไปทิศบูรพา เทวดาอันเป็นสิริ จะเข้ามาอยู่รักษาผู้นั้น
       คำรบ 3 ว่าผู้ใดถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ให้บ่ายหน้าไปทางทิศปัจฉิม เทวดาอันเป็นสิริจะเข้ามาอยู่รักษาผู้นั้น
       คำรบ 4 ว่า ผู้ใด ๆ จะนอนด้วยกัน ให้หญิงนอกเบื้องซ้าย ชายนอนเบื้องขวา เทวดา อันเป็นสิริ จะเข้ามารักษาผู้นั้นแล
       คำรบ 5 ว่าผู้ใดอย่าเอาผ้านุ่งกลางวันกลางคืนรวมกัน ถ้าจะนุ่งให้หมายชายพก หรือทำเครื่องหมายไว้ อย่าให้ผิด อย่านุ่งรวมกัน เทวดาอันเป็นสิริไพรจะเข้ามารักษาแล
       คำรบ 6 ว่า เวลาเช้า โยคีสิริอยู่หน้าผาก ให้เสกน้ำล้างหน้าจึงจะเกิดสิริ เทวดาอันเป็ สิริไพรจะเข้ามารักษาแล
       คำรบ 7 ว่า เวลาเที่ยง (12.00 น. นาฬิกา) โยคีสิริอยู่อก ให้อาบน้ำทาแป้งเจิมอก และหทัย เทวดาอันเป็นสิริจะเข้ามารักษาแล
       คำรบ 8 ว่า เวลาค่ำ โยคีสิริอยู่หน้าหัวแม่เท้าและกลางใจเท้า เมื่อจะเข้านอน ให้อาบ น้ำชำระหัวแม่เท้า และกลางใจเท้าให้เกิดสิริ เทวดาอันเป็นสิริมารักษาแลถ้าปฏิบัติได้ดังนี้ ศัตรูทั้งปวงจะทำร้ายมิได้เลย ถ้ามีผู้คิดร้ายก็ดลใจให้รู้

ถ้าผู้ใดรักษาสิริ 8 ประการนี้ได้ เทวดาอันเป็นสิริไพร จะเข้ามาให้โทษผู้นั้น ทำให้เป็นคนอัปรภาคถอยยศศักดิ์ในโลกนี้ แม่นกจึงบอกแก่ลูกว่าเจ้าจงรู้สิริ 8 ประการนี้เถิด ( แม่นกแสดงให้ลูกนกฟังดังนี้ โลกพรหมอยู่ใต้ต้นไม้ได้ยินทุกสิ่ง ครั้นวันรุ่งขึ้นเป็นวันคำรบเจ็ดวันโลกพรหมก็ไปรอคอยเทวพรหมอยุ่ พอถึงเวลาเทวพรหมก็เสด็จลงมา โลกพรหมก็แสดงแก้อรรถปัญหาปริศนา 8 ข้อ ตามได้ยินมาจากคำแม่นกแสดงแก่ลูกนกทั้ง 8 ข้อ เทวพรหมก็มีความยินดีสรรเสริญต่าง ๆ แก่โลกพรหม แลฯ)








        สิทธิการิยะ โบราณาจารย์ ท่านกล่าวสอนสืบต่อกันมาว่า สงฆ์ 14 นาที 11 สมรส 4 เผาศพ 15 อย่าพึงกระทำเลย มิดี
         1. สงฆ์ 14 หมายถึง นิมนต์พระสงฆ์มาบวชนาค ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ มิให้กระทำในวันขึ้นหรือแรม 14 ค่ำ (มิใช่หมายถึงจำนวนพระสงฆ์) จะเดือดรอน หรือเกิดอาเพศ ต่อบ้านแล
         2. นารี 11 หมายถึง ขึ้นหรือแรม 11 ค่ำ ห้ามโกนจุกลูกสาว (ไม่ห้ามลูกชาย) มิดีแล
         3. สมรส 7 หมายถึง ไม่ควรแต่งงาน สมรสในวันขึ้นหรือแรม 7 ค่ำ ยิ่งถ้าตรงกับวันศุกร์ด้วยแล้ว  ท่านห้ามเด็ดขาดจะแพ้ภัยตัวเองอยู่กินด้วยกันไม่ยืดแล
        4. ปลงศพ 15 หมายถึง วันพระ วันธรรมสวนะ ไม่ควรกระทำฌาปนกิจศพ ถ้ายิ่งตรงกับวันศุกร์ด้วยแล้ว ท่านห้ามไวเด็ดขาด (เพราะตรงกับวันปลงพระศพ ของพระพุทธเจ้า มิดีแล)








       มงคล ๘ ประการ หรือที่เรียนกันสั้นๆ ว่า มงคล ๘ เป็นมงคลที่พุทธศาสนิกชนถือว่าเป็นมงคลภายนอก ไม่มีปรากฏในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นที่ยอมรับประพฤติปฏิบัติกัน
อย่างแพร่หลายมงคล ๘ ประการแบ่งแยกได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ สิ่งที่ถือว่าเป็นมงคล  และสิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของมงคล โดย สิ่งที่ถือว่าเป็นมงคล ๘ ประการ
             1. ใบเงิน  หมายถึง ความมั่งคั่ง
             2. ใบทอง  หมายถึง ความมั่งคั่ง
             3. ใบนาค  หมายถึง ความมั่งคั่ง
             4. ใบพรหมจรรย์ หมายถึง ความบริสุทธิ์สะอาด
             5. หญ้าแพรก หมายถึง ความเจริญงอกงามรวดเร็ว
             6. ฝักส้มป่อย หมายถึง การล้างโรคภัย
             7. ผิวมะกรูด หมายถึง ทำให้สะอาด
             8. ใบมะตูม หมายถึง เทพพรของพระเป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์ทั้งสาม คือ พระศิวะ
             พระนารายณ์ และพระพรหม


เป็นไงครับ สิริและมงคล 8 (ภาคที่ 1) ติดตามกันต่อในบทความหน้า(สิริและมงคล 8-02)
ขอให้ทุกท่านมีความสุขตลอดปี 2012 นะครับ......