วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

MahaKashyapa-พระมหากัสสปะเถระ


สวัสดีครับ ตอนที่ทางจังหวัดนครปฐม ได้จัดงาน 100 ปีพระราชวังสนามจันทร์ เมื่อหลายปีก่อน ผมได้มีโอกาสได้ไปเดินเที่ยวในงานด้วย มีงานศิลปะมากมายให้ได้ชมรวมทั้งภาพนี้ที่ท่านผู้อ่านเห็นอยู่นี้ สวยงามครับ เก็บภาพมาได้แต่ลืมจดว่าใครเป็นผู้วาด กลับมาดูอีกครั้งนึง ในภาพเห็นเท้า(พระบาท)ยื่นออกมา และมีพระสงฆ์องค์นึงจับเท้านั่นไว้ จึงให้อยากรู้ครับว่า ศิลปินท่านที่วาดภาพนี้อยากเล่าเรื่องราวอะไรให้เราทราบ แถมยังมี พระอินทร์และพระพรหม นั่งประทับ อยู่ ณ.ที่นั้นด้วย ผมก็เริ่มหาข้อมูลจากหลายที่หลายแหล่งพอที่จะรวบรวมเรื่องราวได้ตามนี้ครับ





  "ครั้นเรียบร้อยแล้ว ก็อัญเชิญหีบทองนั้นขึ้นประดิษฐานบนจิตรกาธาร ทำสักการบูชา แล้วกษัตริย์มัลลราชทั้ง 8 องค์ ผู้เป็นประธานกษัตริย์ทั้งปวง ก็นำเอาเพลิงเข้าจุด เพื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เพลิงก็ไม่ติดตามประสงค์ แม้จะพยายามจุดเท่าใดก็ไม่บรรลุผล มัลลกษัตริย์มีความสงสัย จึงได้เรียนถามพระอนุรุทธเถระเจ้าว่า "ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ ด้วยเหตุอันใด เพลิงจึงไม่ติดโพลงขึ้น" "เป็นเหตุด้วยเทวดาทั้งหลาย ยังไม่พอใจให้ถวายพระเพลิงก่อน" พระอนุรุทธะเถระกล่าว "เทวดาต้องการให้คอยท่าพระมหากัสสปเถระ หากพระมหากัสสปเถระยังมาไม่ถึงตราบใด ไฟจะไม่ติดตราบนั้น" "ก็พระมหากัสสปเถระเจ้า ขณะนี้อยู่ที่ไหนเล่า ท่านผู้เจริญ" "ดูกรมหาบพิตร ขณะนี้ พระมหากัสสปะเถระ กำลังเดินทางมา ใกล้จะถึงอยู่แล้ว" พระเถระกล่าว กษัตริย์มัลลราชทั้งหลาย ก็อนุวัตรตามความประสงค์ของเทวดา พักคอยท่าพระมหากัสสปเถระเจ้าอยู่" ที่เห็นในภาพเป็นงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีภิกษุและเทวดามาร่วมอยู่ในงานด้วยแต่ยังขาดพระภิกษุอีก 1 องค์คือ พระมหากัสสปเถระ แล้วตอนนี้ท่านอยู่ที่ไหน

  "พระมหากัสสปเถระได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่ ณ เมืองปาวาพร้อมด้วยหมู่ศิษย์จำนวนมาก เมื่อได้ทราบข่าวนั้น เหล่าศิษย์ของพระมหากัสสปะซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้น จึงมีพระภิกษุบวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะ ได้กล่าวขึ้นว่า "หยุดเถิด หยุดเถิด ท่านอย่าร่ำไรไปเลย พระสมณะ นั้นพ้น (ปรินิพพาน) แล้ว เราจะทำอะไรก็ได้ตามพอใจ ไม่ต้อง เกรงบัญชาใคร" พระมหากัสสปะได้ฟังเช่นนั้น คิดจะทำนิคคหกรรม (ทำโทษ) แต่เห็นว่ายังมิควรก่อน และดำริขึ้นว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 7 วัน ก็มีผู้คิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัยเช่นนี้ จึงควรจะทำการสังคายนาและจะชักชวนพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้มาประชุมกัน เพื่อช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วตกลงวางมติไว้ จากนั้นท่านจึงเดินทางไปยังเมืองกุสินาราเพื่อเป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ"

  "เมื่อพระมหากัสสปะและภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางมาถึงสถานที่ถวายพระเพลิงมกุฏพันธนเจดีย์แล้ว ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี กระทำประทักษิณ รอบเชิง ตะกอน ๓ รอบ พระมหากัสสปะเปิดผ้าทางพระบาทแล้ว ถวายบังคมพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้า โดยท่านกำหนดว่าตรงนี้เป็นพระบาทแล้ว เข้าจตุตถฌาน อันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากฌานแล้วอธิษฐานว่า "ขอพระยุคลบาท ของพระองค์ที่มีลักษณะเป็นจักรอันประกอบด้วยซี่พันซี่ ขอจงชำแรกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ พร้อมทั้งสำลี ไม้จันทน์ ออกเป็นช่อง ประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าของข้าพระองค์ด้วยเถิด" เมื่ออธิษฐานเสร็จ พระยุคลบาทก็แหวกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ออกมา พระเถระจับยุคลบาทไว้มั่น และน้อมนมัสการเหนือเศียรเกล้าของตน มหาชนต่างเห็นความอัศจรรย์นั้น ก็ส่งเสียงแสดงความอัศจรรย์ใจ เมื่อพระเถระและภิกษุ ๕๐๐ รูป ถวายบังคมแล้ว ฝ่าพระยุคลบาทก็เข้าประดิษฐานในที่เดิม ครั้นแล้วเปลวเพลิงก็ลุกโพลงท่วมพระสรีระของพระศาสดา ด้วยอำนาจของเทวดา ในการเผาไหม้นี้ ไม่มีควันหรือเขม่าใดๆฟุ้งขึ้นเลย เมื่อเพลิงใกล้จะดับ ก็มีท่อน้ำไหลหลั่งลงมาจากอากาศ และมีน้ำพุ่งขึ้นจากกองไม้สาละ ดับไฟที่ยังเหลืออยู่นั้น"
  ได้เรื่องครบกระบวนการครับขอนุญาตสรุปตามเข้าใจของผมว่า ภาพที่ทางศิลปินท่านวาดเป็น ภาพพระมหากัสสปะเปิดผ้าทางพระบาทแล้ว ถวายบังคมพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้า ในงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ นอกจากนั้นผมยังได้ความรู้ว่าพระมหากัสสปะ ท่านสำคุญอย่างไร ตามนี้ครับ

Mahākāśyapa
Mahākāśyapa (Photo credit: Wikipedia)

การบวชด้วยการรับโอวาท 
  วิธีบวชอย่างนี้เรียกว่า โอวาทปฏิคคณูปสัมปทา แปลว่า การบวชด้วยการรับโอวาท   ลำดับนั้น พระศาสดาได้บวชให้ท่านด้วยทรงประทานโอวาท ๓ ข้อ คือ
๑. ดูก่อนกัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และความเกรงใจในภิกษุทั้งที่เป็น เถระ ปานกลาง และบวชใหม่
๒. ธรรมใดเป็นกุศล เราจักเงี่ยโสตลงฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความนั้น (ของธรรมนั้น)
๓. เราจักไม่ทิ้งกายคตาสติ คือพิจารณาร่างกาย เป็นอารมณ์ (อยู่เสมอ)  ตั้งแต่นี้ไปเราจะทำอะไรให้ดีกว่านี้อีก จึงได้สมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อ ในสำนักพระศาสดา หลังจากบวชได้ ๘ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

 เอตทัคคะ 
  พระมหากัสสปเถระ ได้รับการสรรเสริญจากพระศาสดาเป็นต้นว่า เปรียบเสมือนด้วยพระจันทร์ เข้าไปยังตระกูลทั้งหลายไม่คะนองกาย ไม่คะนองจิต เป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิตย์ ไม่เย่อหยิ่ง วันหนึ่ง เมื่อประทับนั่ง ในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้า ทรงตั้งพระเถระไว้ในตำแหน่งผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงธุดงค์และกล่าวสอนธุดงค์ว่า ภิกษุทั้งหลาย กัสสปะนี้ เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเรา ผู้ทรงธุดงค์และกล่าวสอนธุดงค์  พระมหากัสสปเถระ เป็นพระสันโดษมักน้อย ถือธุดงค์เป็นวัตร ธุดงค์ ๓ ข้อ ที่ถืออยู่ตลอดชีวิต คือ ๑. ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๒. เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ๓. อยู่ป่าเป็นวัตร การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของท่านจึงไปในทางเป็นแบบอย่างที่ดีของคนรุ่นหลังมากกว่าการแสดงธรรม ท่านได้แสดงคุณแห่งการถือธุดงค์ของท่านแก่พระศาสดา ๒ ประการคือ
๑. เป็นการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
๒. เพื่ออนุเคราะห์คนรุ่นหลัง จะได้ถือปฏิบัติตาม
พระศาสดาทรงประทานสาธุการแก่ท่าน แล้วตรัสว่า เธอได้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ตนแก่ชนเป็นอันมาก ทรงสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเป็นแบบอย่าง ดังนี้
๑. กัสสปะ เข้าไปสู่ตระกูล ชักกายและใจออกห่างประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคยอยู่เป็นนิตย์ ไม่คะนองกายวาจาใจ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลนั้น เพิกเฉย ตั้งจิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภจงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญ จงได้บุญ ตนได้ลาภมีใจฉันใด ผู้อื่นก็มีใจฉันนั้น
๒. กัสสปะ มีจิตประกอบด้วยเมตตา แสดงธรรมแก่ผู้อื่น
๓. ทรงสั่งสอนภิกษุให้ประพฤติดีประพฤติชอบ โดยยกท่านพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่าง

A Chinese sculpted wooden head representing Ka...
A Chinese sculpted wooden head representing Kashyapa, a sage of India, dated from the Tang Dynasty (618–907) (Photo credit: Wikipedia)

ประธานทำสังคายนา
  การทำสังคายนาพระธรรมวิทัยครั้งที่ 1 จึงได้จัดขึ้นที่ถ้ำสัตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ ตามคำปรารภของพระมหากัสสปะเถระ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้เวลาในการสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยอยู่ 7 เดือนจึงแล้วเสร็จ โดยในครั้งนั้น พระมหากัสสปะเถระเป็นประธานทำสังคายนา พระอานนท์เป็นองค์วิสัชชนาแสดงพระธรรมวินัยในหมวด สุตตันตปิฎกและอภิธรรมปิฎก พระอุบาลี เป็นองค์วิสัชชนาพระวินัยปิฎก ซึ่งแนวการวางระเบียบพระธรรมวินัยในครั้งนั้นจัดเป็นรูปแบบที่เรียกว่า พระไตรปิฎก และยังคงมีการรักษาสิ่งที่ได้จัดรวบรวมในครั้งปฐมสังคายนาอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับเถรวาทโดยไม่มีการปรับแก้มาจนปัจจุบัน

  ขอขอบคุณศิลปินนิรนามท่านนี้มากครับที่จุดประกายความคิดและปัญญาให้ผม...ขอบคุณครับ
Enhanced by Zemanta

วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Facebook Embeddable Posts: Vinayak-Vanich-02

Facebook Embeddable Posts: Vinayak-Vanich

สวัสดีครับ บทความนี้ผมขอออกนอกเนื้อหาของ blog นี้นะครับ จากเล็กๆน้อยๆว่าด้วยเรื่องไทยๆ เป็นแนว IT สักหน่อย อยากจะบอกว่าตอนเขียนบทความนี้ไปก็ทดสอบวิธีการใช้ code ของ Facebook นี้ไป  ถ้าไม่ลองลง code ของ Facebook ลงในบทความแล้วเผยแพร่ ผมจะไม่ทราบเลยว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

  Facebook Embeddable Posts เป็นลูกเล่นใหม่จาก Facebook หลังจากที่ได้ออกคุณสมบัติ hashtags ในตัว Facebook เอง โดยอนุญาตให้สามารถ สร้างลิ๊ง ไปยัง บทความ-รูปภาพ-วิดิโอ ที่ท่านผู้อ่านได้เผยแพร่ในบัญชี Facebook ของท่าน ลงใน Blog ที่ท่านเขียนหรือ Website ที่ท่านมี ทำให้เนื้อหาต่างๆที่ท่านผู้อ่านมีอยู่ต่างที่ต่างถิ่น มาอยู่รวมกันได้ และจะเป็นการเพิ่ม Traffic สำหรับหน้า Facebook ของท่านไปในตัว รวมทั้งถ้ามีผู้อื่นถูกใจเนื้อหาต่างๆที่ท่านผู้อ่านโพสต์ใน Facebook ของท่าน แล้วอยากบอกให้โลกรู้เขาก็สามารถเชื่อมโยงเนื้อหานั้นลงใน<Blog-Web>ของเขาเองได้ด้วย

ก็ไม่ยากนะครับ ถ้าท่านชอบเนื้อหาใดใน Facebook ของท่านหรือของคนอื่น แล้วอยากลงเนื้อหานั้นลงใน <Blog-Web> ก็ใช้วิธี ฝังโพสต์ (embed post) ครับ ตามขั้นตอนนี้เลย
  1. คลิกที่ ลูกศร(สามเหลี่ยมลง) ของโพสต์ใน Facebook ที่ท่านเลือก
2.เลือกคำลั่งฝังโพสต์



3.หลังจากเลือกคำลั่งฝังโพสต์ในข้อ 2 แล้วจะมีหน้าต่างใหม่ขึ้นมา ให้ท่านผู้อ่าน ไฮไลท์ code ที่ปรากฏขึ้นมาแล้ว copy ก็เป็นอันหมดขั้นตอนใน  Facebook แล้วครับ



  หลังจากนั้นผมก็กลับมาที่ Blogger แล้วเลือกเขียน บทความใหม่ ตั้งชื่อเรื่องของบทความใหม่เสร็จ ก็วางโค๊ด (paste) ที่ได้จาก  Facebook  ลงในเนื้อความ (แบบเขียน html ) แล้วก็กดเผยแพร่บทความเลยครับ ผลที่ได้ก็ตามรูปด้านล่าง



  จากนั้นผมลองวางโค๊ดลงใน Side bar แบบ html gadget ก็ใช้ได้ครับ



  ถ้ายังไงผิดพลาดประการใดลองอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดที่ "ศูนย์ช่วยเหลือของ Facebook" นะครับ ตอบโจทย์ท่านผู้อ่านได้แน่ๆ



  แต่ผมพบข้อเสียอยู่อย่างแล้วครับว่าท่านผู้อ่านต้อง log on ใน Facebook อยู่นะครับ ถ้าไม่อย่างนั้นเนื้อหาที่ฝังโพสต์จะไม่แสดงผล



ถ้าท่าน log on แล้วเชิญเลยครับตามลิ๊งนี้



สวัสดี....

Enhanced by Zemanta

Facebook Embeddable Posts: Vinayak-Vanich-01







วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระราหูบนหินแกรนิต-Rahu

สวัสดีครับ บทความนี้ขอเริ่มต้นด้วยของดำเลยนะครับ จำได้ว่าภาพนี้ถ่ายต่อจากท่านชูชก(ชูชกในวัด) เห็นว่างานลายสลักท่านราหูนี้ค่อนข้างคมชัดสวยงาม เป็นการสลักลงหินแกรนิตครับ แต่ให้มีคำถามว่า 1.ท่านราหูทำไม่มีแต่รูปปางนี้ 2.แล้วทำไมต้องอมพระจันทร์ด้วย 3.แล้วเกี่ยวอะไรกับกะลาตาเดียว เห็นกะลาตาเดียวทีไรต้องมีรูปท่านทุกที ก็พยายามหาข้อมูลเพื่อให้ตัวเองหายสงสัยพอที่จะปะติดปะต่อได้เรื่องราวประมาณนี้ อย่างแรก การกำเนิดของพระราหูมี2 ตำนานคือ

  "- พระราหูถูกสร้างขึ้นมาโดยพระอิศวร หรือพระศิวะจากหัวกะโหลก 12 หัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีทอง แล้วประพรมด้วยน้ำอัมฤตเสกได้เป็นพระราหู มีสีวรกายสีนิลออกไปทางทองแดง ทรงสุบรรณ (ครุฑ) เป็นพาหนะ มีวิมานสีนิลอยู่ในอากาศ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพ) 
- พระราหูเป็นโอรสของท้าววิประจิตติและนางสิงหิกาหรือนางสิงหะรา เมื่อเกิดมามีกายเป็นยักษ์และมีหางเป็นนาค"

  นี่แสดงว่าองค์ท่านเต็มตัวท่านไม่มีขานะครับเพราะตามตำนานที่ 2 ท่านมีหางเป็นนาค(งู) ส่วนสาเหตุที่ท่านพระราหูมีกายเพียงครึ่งท่อนก็เกิดเหตุคราวที่  "เมื่อครั้งที่เหล่าเทวดาได้ทำพิธีกวนเกษียรสมุทรเพื่อให้ได้น้ำอัมฤตนั้นมีทั้งเทวดาและยักษ์ทั้งหลายเข้าร่วมทำพิธี พระราหูได้แอบอยู่ในกลีบเมฆ เมื่อทำพิธีสำเร็จพระราหูจึงรีบลอบดื่มน้ำอัมฤตที่เกิดขึ้นนั้น พระอาทิตย์และพระจันทร์ได้เห็นเข้าจึงรีบเอาความนั้นไปทูลบอกพระนารายณ์หรือพระวิษณุ พระนารายณ์ทราบจึงขว้างจักรตัดไปถูกกลางตัวพระราหูขาดกลายเป็นสองท่อน แต่ด้วยว่าน้ำอำมฤตที่พระราหูได้ดื่มนั้นไหลไปจนถึงกลางตัวพระราหูแล้วพอดี ครึ่งบนของพระราหูที่ถูกตัดออกจึงกลายเป็นอมตะ" ก็ได้ความหละครับหายสงสัยไป 1 อย่าง ท่านถูกจักรพระนารายณ์ตัดนั่นเองแต่ยังไม่ตายครับ ส่วนครึ่งล่างที่ถูกตัดขาดนั้นได้กลายมาเป็นดาวพระเคราะห์ดวงที่ 9 แห่งเหล่าเทวนพเคราะห์ซึ่งก็คือ พระเกตุ




  ส่วนความสงสัยเรื่องทำไมท่านต้องอมพระจันทร์ด้วย ก็ได้ความตามนี้ครับ "จากนั้นเมื่อครั้งใดที่พระราหูได้พบเจอพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ พระราหูก็จะจับมากลืนกินด้วยความโกรธแค้นที่เทวดาทั้งสององค์นำเรื่องไปทูลพระนารายณ์ แต่อมไว้ในปากได้ไม่นานก็ต้องคายออกมาเพราะทนความร้อนและรัศมีของเทวดานพเคราะห์ทั้งสองไม่ได้ เกิดเป็นเหตุของปรากฏการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคาตามคติความเชื่อของคนโบราณ" ได้เรื่องแล้วครับ ภาพที่เห็นคือ ท่านราหู(ครึ่งบน)กำลังอมพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ ด้วยความโกรธนั่นเอง และเรื่องความเกี่ยวข้องกับกะลาตาเดียว แล้วท่านกำลังอมใคร พระจันทร์หรือพระอาทิตย์ ตามกันมาต่อนะครับ ผมค้นได้ข้อมูลตำนานที่ว่า " ในอดีตชาติ พระราหูได้เกิดมาเป็นน้องร่วมท้องเดียวกันกับเทวดานพเคราะห์อีกสององค์ คือ พระอาทิตย์ และพระจันทร์ โดยพระราหูเกิดเป็นน้องสุดท้อง ครั้งหนึ่ง พระราหูได้ร่วมทำบุญถวายพระที่มารับบิณฑบาตร่วมกับพี่ทั้งสองคน พระอาทิตย์ตักบาตรในครั้งนั้นด้วยภาชนะทอง พระจันทร์ตักบาตรด้วยภาชนะเงิน ส่วนพระราหูตักบาตรด้วยภาชนะที่ทำมาจากกะลามะพร้าว เมื่อทั้ง3พี่น้องได้มาเกิดเป็นเทวดานพเคราะห์ พระอาทิตย์จึงมีรัศมีและวรรณะเปล่งปลั่งดุจทองคำ พระจันทร์มีรัศมีและวรรณะเป็นสีขาวสว่างดุจเงิน และพระราหูมีรัศมีและวรรณะเป็นสีนิลออกไปทางทองแดง" อย่างน้อยเริ่มเกิดความเกียวข้องระหว่างท่านราหู-กะลา-และสีผิวของท่าน แต่ทำไมต้องเป็นกะลาตาเดียว

Photo of Rahu taken at the British Museum

ตามความเห็นส่วนตัวของผม อาจเกิดการรวมความเชื่อของ กะลาตาเดียวที่ว่า "กะลาตาเดียวใช้เป็นเครื่องรางของขลัง ติดประจำกายไว้กับตัว เพราะกะลาตาเดียวเป็นอาถรรพ์มีดีอยู่ในตัว ใช้สำหรับเป็นสิ่งป้องกันเสนียดจัญไรหากว่ามีการนำไปปลุกเสกลงคาถาอาคมก็จะยิ่งมีอิทธิฤทธิ์มากยิ่งขึ้น"  และอีกหนึ่งความเชื่อที่ว่า "การไหว้พระราหูโดยความเชื่อมักจะทำให้เกิดโชคลาภ และความสำเร็จ ซึ่งมีโอกาสร่ำรวยด้วยการบูชาพระราหู"  ดังที่จะเห็นในปัจจุบันหละครับที่กะลาตาเดียวกลายเป็นวัตถุมงคลและมีการสลักผิวกะลาเป็นรูปท่านราหู(ส่วนท่านผู้อ่านที่ต้องการให้ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาฝากไว้ที่ comment ใต้บทความนะครับ)




  แล้วท่านราหูกำลังกลืนกินใคร ผมเดาไม่ออกจริงๆครับ อาจจะต้องสังเกตุท่านพระราหูจากหลายๆที่ หลายๆวัดว่า วงกลมๆ ที่อยู่ในปากท่านมีลักษณะที่ต่างกันบ้างรึเปล่า พอให้จินตนาการว่าเป็นพระจันทร์หรือพระอาทิตย์ แต่ก็พอได้ข้อมูลจากการแกะสลักกะลาตาเดียวเป็นรูปราหูจากอดีตถึงปัจจุบัน ว่า "มีอยู่ด้วยกันสองรูปแบบคือ แกะเป็นรูปราหูอมจันทร์ และแกะเป็นรูปราหูอมพระอาทิตย์ รวมทั้งการลงอักขระจะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นราหูอมจันทร์ ลงคาถาด้วย คาถาจันทรประภา ถ้าแกะเป็นราหูอมพระอาทิตย์ ลงคาถาด้วย คาถาสุริยประภา   ซึ่งมีความเชื่อว่าคาถายันต์จันทรประภาและสุริยประภา หรือ สุริยัน-จันทรา เป็นยันต์คาถาที่ให้คุณทางด้านโชคลาภ" ผมก็คงต้องเก็บความสงสัยนี้ไว้ก่อนเพราะอ่านอักขระที่เขียนไว้ในรูปไม่ออกจริงๆว่า ท่านเป็นใคร พระจันทร์หรือพระอาทิตย์

โถ ท่านพระราหูบนหินแกรนิตกับความสงสัยของผมนิดเดียว แต่เรื่องยาวครับ

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Life in Pic

       วิถีชุมชน-ผู้คนต่างๆ-ชีวิตประวัน เมื่อลองนำ 3 สิ่งนี้มาผสมกัน ถ้าเป็นสมัยก่อน เราอาจจะได้ กลอนไพเราะสักบท นิทานพื้นบ้านประจำถิ่นสักเรื่อง เพลง-ปรัมปรา-ที่พูดถึง ผู้คนเก่าๆ ให้เราพอได้รู้เรื่องของพวกเขาเหล่านั้นตามแต่จินตนาการของเรา แต่ในยุคนี้ ผมสามารถจินตนาการถึงผู้คนเหล่านั้นผ่าน สายตาของเราเอง ด้วยการดูภาพถ่าย ที่สามารถบอกเรื่องราวต่าง ในชุมชนนั้น ในชีวิตประจำวันวันนั้น หรือในวินาทีนั้นได้  การถ่ายภาพแนว street photography ถือเป็น การถ่ายภาพแนวนึงที่นิยมกันมากในสมัยนี้ ....

       ในบทความนี้ ขออนุญาตพาท่านท่องท้องถนนในย่านเอเซีย เริ่มจากเพจแรกที่ผมชอบแวะไปคือ Kyoto Street Photography (Walking and taking photo along streets in Kyoto, Let's share somethings you have seen in Kyoto!) หลังจากได้ดูรูปต่างๆที่ถ่ายทอดวิธีชีวิตใน เกียวโตแล้ว บอกตรงๆว่าอยากไปเที่ยวที่นั่นบ้างครับ สมกับสโลแกน เดินท่องไปถ่ายรูปไปตามท้องถนนในเกียวโต, แล้วเรามาแบ่งปันสิ่งที่คุณเห็นในเกียวโต กันเถอะ ขอบคุณนะครับ ที่นำรูปสวยๆในต่างแดนมาให้เราชมกัน  






       จากเกียวโตก็กลับมาที่ กรุงเทพ ประเทศไทยกันหน่อยเป็นของ  หลังหกโมงเย็น สตรีทโฟโตกราฟฟี เพจนี้ เขาทำให้ภาพความจำเกี่ยวกับท้องถนนในกรุงเทพของผมบิดเบี้ยวไปครับ ทำให้ผมรู้สึกว่า กรุงเทพมันสวยขึ้น ผู้คนที่เดินผ่านกันตามท้องถนนอย่างเฉยเมย ดูมีชีวิตชีวาขึ้น ดูมีความหวังขึ้น ครับอีกมุมมองนึงของเมืองนี้ที่ผ่านกล้องของ <<< หลังหกโมงเย็น สตรีทโฟโตกราฟฟี>>> ที่อาจทำให้คุณรักเมืองนี้มากขึ้น




       และแนะนำกันอีกที่ครับคือ streetphotothailand การรวมตัวกันของช่างภาพชั้นครู และช่างภาพรุ่นใหม่ ที่มีความสดใหม่ เน้นความเฉียบคมของแนวคิดและความกล้าที่จะสร้างงานที่แตกต่างออกไป ลองแวะไปชมงานของพวกเขากันนะครับ


       จากถนนที่เต็มไปด้วยแสงสีขอนำท่านสู่ถนนดินสีแดงที่เต็มไปด้วยฝุ่นและวัว เป็นเพจของ kr sunil photography (Native of Kodungallur, Kerala. National Diploma in Sculpture from College of Fine arts, Thrissur) ชาวเมือง Kodungallur  Kerala อินเดีย เพจนี้ผมชอบมากครับ เขาทำให้ผมเห็นว่า ไม่ว่าคนจะมากมายแค่ไหน ชีวิตจะลำบากอย่างไร แต่ในนั้นมีความเป็นมนุษย์ที่สู้ชีวิตและต้องอยู่ร่วมกัน(ให้ได้) ลองดูแววตาของผู้คนที่อยู่ในภาพของเพจนี้ซิครับ ทำให้ผมลืมปัญหาของผมไปได้ชั่วขณะจริงๆ

                       


     ส่วนอีกคนนึงที่ส่วนตัวผมตามงานของเขาเสมอๆ คือ Eric Lafforgue His work has been published in:
Time Magazine, National Geographic, New York Times, CNN Traveller, Discovery Channel magazine, BBC, Sunday times,Lonely Planet, Morning Calm Korea, GEO (16 countries)  ช่างภาพชาวฝรั่งเศสที่ตระเวนถ่ายรูปไปทั่วโลก ลงหนังสือนิตยสารต่างๆมากมาย แถมมีแอพพลิเคชั่น ให้โหลดดูงานภาพของเขาอีกต่างหาก ช่างภาพคนนี้ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวงนะครับ บางที่ท่านอาจได้ชมงานของเขาไปแล้วโดยที่ท่านไม่รู้ตัว




       การเสพภาพ  นี้ผมถือเป็นความสุขอย่างนึงส่วนตัวของผมครับ บางครั้งเวลาที่ผมเกิดอาการ low batt ก็แวะเข้าไปดูภาพของพวกเขาสักพัก ก็รู้สึกดีขึ้น ถือเป็นการพักผ่อนอารมณ์ที่ดีทีเดียว ส่วนเพจอื่นที่มีภาพสวยๆผมขออนุญาตนำมาลงทีหลังนะครับ ท้ายนี้ผมขอจบบทความนี้ด้วยประโยคของ หลังหกโมงเย็น สตรีทโฟโตกราฟฟี ครับ เขาเขียนไว้ดีมาก ว่า "ผมไม่ได้ถ่ายภาพเพื่อเงินหรือสิ่งตอบแทนใดๆ สิ่งที่ผมอยากได้คือได้ส่ง ต่อมุมมองและช่วงเวลาดีๆที่ผมได้พบเจอ ทุกๆที่ในชีวิตประจำวันของผมเท่านั้นเองครับ"  ...สวัสดี...










วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ชูชกในวัด

ชูชกในวัด

       เมื่อ ปีก่อน ผมได้ไปทำธุระที่วัดแถวสมุทรสาคร ได้บังเอิญเดินผ่านแผ่นป้ายที่ผมอ่านแล้วรู้สึกกล้วอย่างยิ่ง อย่างแรก คือกลัวตัวเองเป็นอย่างชูชก ส่วนอีกอย่างก็คือ กลัวคนที่ทำชูชกขาย มาทำลายป้ายนี้ อย่างน้อยที่ผมรู้สึกดีก็คือ พระในวัดนี้ท่านได้ทำหน้าที่ของท่าน ที่จะให้ความสว่างแก่ชาวพุทธตามกาละที่เหมาะสม เป็นอย่างดี ตรงและแรงครับ เห็นป้ายแล้วก็ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก ก็ขออนุญาตถ่ายทอดข้อความตามแผ่นป้าย ท่านว่าดังนี้

vinayak-vanich.blogspot.com


       "ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทั้งหลาย จะตั้งสตินึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าให้มาก ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วพวกเราจะวิปริตยิ่งขึ้น เดี๋ยวนี้ที่หิ้งบูชา หรือที่สายห้อยคอของชาวพุทธ เริ่มมีสิ่งอัปมงคลเข้ามา โดยที่พวกเราสำคัญผิดว่าเป็นสิ่งดี นั่นคือตัวชูชก ชูชกตัวนี้เป็นตัวลวงโลก เกิดมามีบุรุษโทษ คือลักษณะอันชั่วร้าย 18 ประการ ซึ่ง 18 ประการนี้ เพียงอย่างหนึ่งอย่างใด เราก็รับไม่ได้แล้ว แต่ยังมีผู้หลงผิดนำสายสร้อยห้อยคอ หรือนำขึ้นหิ้งบูชา

vinayak-vanich.blogspot.com


       นอกจากนั้นทั้งชีวิตของชูชก ท่านมาลองคิดดูว่ามีสิ่งใดที่นับว่าเป็นคุณธรรมบ้าง เห็นแก่ตัว โหดร้าย ปลิ้นปล้อน ชูชกเมือเวลาตาย กินจนท้องแตก ใครที่บูชาชูชก มีอันต้องฉิบหายตายโหง
       ชูชกตายแล้วเกิดเป็นเถรเทวทัต ยุยงให้นางจิญจายมาณวิภา กล่าวโทษพระพุทธเจ้าว่าทำให้นางท้อง ต่อมาเทวดาแปลงเป็นหนูกัดสายรัดท้องทำให้คนรู้ว่า นางจิญจายมาณวิภาหลอกลวงให้ร้าย ธรณีสูบนางจิญจายมาณวิภา


       เทวทัตยุยงให้พระเจ้าอชาติศัตรู ทำปิตุฆาต คือ ฆ่าพระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็นพระราชบิดาตาย ใครบูชาชูชก จะมีลูกหลาน อกตัญญูทำร้ายพ่อแม่
       เทวทัต ทำสังฆเภท คือยุยงให้สงฆ์แตกกัน ใครบูชาชูชก ครอบครัวจะแตกแยกไม่เป็นสุข
       เทวทัต ถูกธรณีสูบ ลงนรกชั้นโลหะกุมภี ใครบูชาชูชก จะตกนรกหมกไหม้ ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด
ท่านทั้งหลาย ถึงเวลาแล้วที่พวกเราชาวพุทธ จะได้ตั้งสติ น้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และคำสอนของ พระพุทธองค์ ที่สรุปโดยย่อว่า

สัพพะปาปัสสะ  อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา
  สะจิตติปริโยหะปะนัง เอตัง  พุทธานะสาสะนัง

  การงดบาป  เว้นบาปทั้งปวง บำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม
  ทำจิตให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

ขอความสวัสดีมงคล จงมีแก่ทุกท่าน"

วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ย่านท่าหลวง-ตลาดล่าง จันทบุรี

vinayak-vanich.blogspot.com


      ย่านท่าหลวง เป็นชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำจันทบุรีด้านตะวันตก แต่เดิมรู้จักกันในชื่อที่เรียกกันติดปากว่า "บ้านลุ่ม" ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวจีนและญวนอพยพตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมาได้พัฒนามาเป็น ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าของจันทบุรีที่สำคัญแห่ง หนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีจุดเริ่มต้นจากเชิงสะพาน วัดจันทร์ ผ่านบ้านท่าหลวงยาวเป็นแนวไปตลอดจนถึงชุมชนตลาดล่าง บริเวณที่เรียกว่าท่าเรือจ้าง อาคารส่วน ใหญ่เป็นที่พักอาศัยและร้านค้าของชุมชนที่มีอายุเกือบร้อยปี ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5




         ย่านท่าหลวง-ตลาดล่าง มีความสำคัญต่อบทบาทการค้ากับต่างประเทศของจันทบุรีในยุคนั้น คือ เป็นจุด ที่เรือบรรทุกสินค้าของป่าที่รวบรวมมาได้จากป่าแถบตะเคียนทอง น้ำขุ่น คลองพลู วังแซ้มในบริเวณเขาคิชฌกูฎ และ เขาสอยดาว จะล่องลงมาตามลำน้ำจันทบุรี และมาเทียบท่าที่ตลาดท่าหลวง โดยมีกล่มชาวชองซึ่งเป็นชน พื้นเมือง เดิมที่อาศัยอยู่ในแถบเทือกเขาในจันทบุรี ระยอง และตราด เป็นแรงงานในการจัดเก็บของป่านำมาจำหน่าย ในตัวเมืองจันทบุรี ในปีหนึ่งชาวชองจะล่องแพนำสินค้ามาจำหน่ายในเมืองเพียงครั้งเดียว คือในระหว่างเดือน 10 ถึง 12 (เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน) เนื่องจากเป็นฤดูน้ำหลาก สามารถล่องแพลงมาตามลำน้ำได้สะดวก ส่วนใน ฤดูแล้ง ระหว่างเดือน 3 ถึง 5 (เดือนกุมพาพันธ์ถึงเดือนเมษายน) ต้องลำเลียงทางเกวียนซึ่งลำบากและใช้เวลานาน  จึงไม่เป็นที่นิยม ในช่วงที่กองทหารฝรั่งเศสเข้ามายึดครองจันทบุรี (พ.ศ. 2436-2447) การค้าขายในย่านนี้เป็นไปอย่าง คึกคัก นอกจากสินค้าป่าแล้วยังมีการลักลอบจำหน่ายสินค้าประเภทสุรา ฝิ่น กาแฟ ชา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ของ ย่านท่าหลวง-ตลาดล่าง ส่งผลให้ทางรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบ สาธารณูปโภคต่างๆในบริเวณนี้ ก่อนบริเวณอื่น


vinayak-vanich.blogspot.com


         ได้มีการประกาศให้พระราชบัญญัติสุขาภิบาลที่ตำบลตลาดเมืองจันทบุรีเป็นแห่งแรกในเขตจันทบุรี ในปี พ.ศ. 2451 นอกจากนี้ในช่วงที่มีการค้าขยายตัว มีจำนวนประชากรอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานชั่วคราวในย่านนี้ถึงปีละ 100 คนเศษ มี พ่อค้าต่างถิ่น อาทิ แขก กุหล่า พม่า เข้ามาตั้งร้านค้าชั่วคราว รวมทั้งมีพ่อค้าเร่จากบ่อพลอยไพลิน บ่อนาวงที่มาซื้อขาย สินค้าต่างๆ และนำพลอยมาขายปีละนับพันคน เมื่อศูนย์กลางการค้าภายในเมืองจันทบุรีย้ายไปอยู่ที่ ตลาดน้ำพุ   บริเวณถนนศรีจันท์และตรอกกระจ่าง ซึ่งนับเป็นถนนเศรษฐกิจของจังหวัด ผู้ประกอบธุรกิจด้านอัญมณีจะมาซื้อขายพลอยและอัญมณีต่าง ๆ เป็นประจำทุกวันเพราะเป็นที่ตั้งของร้านเจียระไนพลอยและร้านค้าอัญมณี ซึ่งอาจนับได้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นตลาดค้าพลอยเจียระไนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ สามารถเห็นบรรยากาศการซื้อขายพลอย ของบรรดานายหน้าและพ่อค้าพลอย ซึ่งเป็นแหล่งค้าพลอยที่ใหญ่ที่สุดในจันทบุรี มีร้านซื้อขายพลอยดิบและพลอยเจียระไน ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลอยเต็มสองฟากถนน จนขนานนามกันว่าเป็นถนนสายพลอย หรือ ถนนอัญมณี ซึ่งมีพลอยหลายชนิดให้เลือกซื้อเลือกชมกัน ตั้งแต่ราคาไม่กี่ร้อยไปจนถึงราคาเรือนแสน  การซื้อขายพลอยคึกคักที่สุดในช่วงวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ มีทั้งร้านเปิดโล่งและร้านติดแอร์ ตั้งเรียงรายอยู่สองฝั่ง ถ. ศรีจันทร์ พ่อค้าจากต่างเมืองจะมานั่งประจำโต๊ะรับซื้อพลอยและมีพ่อค้าพลอยจากต่างประเทศเช่นจากศรีลังกา จากแอฟริกา นำพลอยมาค้าขายและ มาซื้อหาพลอยกลับไปด้วย  แต่ละโต๊ะมีอุปกรณ์สำคัญในการดูพลอย ทั้งคีมคีบ แว่นขยาย เครื่องคิดเลข และตาชั่งสำหรับชั่งน้ำหนักพลอยเป็นกะรัต พร้อมสรรพ



         แม้ปัจจุบันบรรยากาศการซื้อขายพลอยบน ถ. ศรีจันทร์ ไม่รุ่งเรืองและคึกคักเช่นในอดีต แต่ก็เป็นตลาดพลอยแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่  นักท่องเที่ยวสามารถชมการเจียระไนพลอย การโกลนพลอยได้ด้วย ที่เดินทางมาจากที่ต่าง ๆ กันทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีการค้าขายพลอยดิบอีกด้วย โดยจะเปิดตลาดในช่วงเช้าเวลา 08.00 น. จนถึงประมาณ 15.00 น. มีนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายพลอยมาชุมนุมต่อรองราคากันอย่างคึกคัก นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองจันทบุรีซึ่งไม่อาจพบได้ในจังหวัดอื่น



         ลักษณะ ของย่านท่าหลวง-ตลาดล่างมีลักษณะเป็นตึกแถวโบราณมีลวดลายไม้จำหลักอ่อนช้อยงดงาม อยู่ตามบานประตูหน้าต่างและมุมอาคารซึ่งจะพบรูปแบบเรือนขนมปังขิงปะปนอยู่ ด้วย เพราะชาวจันทบุรีได้รับอิทธิพลจากการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศเมื่อสมัย ร. 5 ย่านท่าหลวงยังปรากฏให้เห็นวัฒนธรรมการตั้งบ้านเรือนหรือ ร้านค้าที่หันหลังให้แม่น้ำ หันหน้าเข้าสู่ถนน บ้านเรือนเป็นเรือนติดดิน นิยมสร้างเป็นเรือนหลังใหญ่ทรงจั่ว ใช้วัสดุในท้องถิ่นก่อสร้าง อาทิ ไม้แฝก ใบจาก นิยมยื่นชายคากออกมาเพื่อเป็นร้านค้าติดระเบียงทางเดินด้านหน้า ตามลักษณะที่พักอาศัยกึ่งพาณิชย์อันเป็นลักษณะวัฒนธรรมการค้าขายของชาวจีน อาคารพักอาศัยและร้านค้าย่านท่าหลวงเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีคุณค่าทาง ประวัติศาสตร์อย่างมาก ควรจะมีการอนุรักษ์เอาไว้เพื่อการท่องเที่ยว



การเดินทางไปชุมชนเก่าริมน้ำย่านท่าหลวง-ตลาดล่าง
     - รถยนต์ส่วนตัว มื่อเดินทางมาถึงจังหวัดจันทบุรี ผ่านศาลหลักเมืองบริเวณหน้าค่ายตากสินแล้ว ขับรถผ่านหน้าสถานีตำรวจภูธร จังหวัดจันทบุรี ถึงเชิงสะพานวัดจันทร์ หาที่จอดรถ ชุมชนย่านท่าหลวงจะอยู่ทางด้านขวามือ
     -โดยรถสาธารณะ  รถตู้ไปจันทบุรี ขึ้นรถที่เซ็นจูรี่ให้บริการทุกวัน เริ่มตั้งแต่ 6 โมงเช้า - 1 ทุ่ม ราคาเที่ยวละ 200 บาท โดยรถตู้จะจอด ที่ห้างโรบินสัน จากนั้นนั่งรถมอเตอร์ไซต์รับจ้างบอกว่าไปลวสะพานวัดจันทร์ ค่าโดยสาร 25 บาท
     - รถโดยสารปรับอากาศ บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) และหมอชิต ทุกวัน ตั้งแต่ 04.00 - 24.00 น. ออกทุกชั่วโมง

more pictures

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ

ประวัติศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ
         เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชการที่ 1 โปรดเกล้า ฯให้ตั้งการพระราชพิธียกเสาหลักเมือง ตามโบราณราชประเพณีเพื่อเป็นนิมิตรหมายหลักชัยสำคัญประจำพระมหานครราชธานี ณ วันอาทิตย์ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปี ขาล จุลศักราช 1144 ตรงกับสุรทิน ที่ 21  เมษายน พุทธศักราช 2325 เวลา 06.54 นาฬิกา  และต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อเสด็จขึ้นครองราช ทรงตรวจดวงพระชาตาของพระองค์ ซึ่งสถิตอยู่ ณ ราศีกันย์ เป็นอริแก่ลัคณาดวงเมืองกรุงเทพมหานคร เห็นได้ชัดว่าดวงพระชาตาไม่กินกับดวงเมือง พระองค์จึงทรงแก้เคล็ดดวงเมือง โดยโปรดให้ขุดพระหลักเมืององค์เดิม ในการนี้พระองค์ได้โปรดให้ช่างแปลงรูปศาลเสียใหม่จากรูปศาลาเป็นรูปปรางค์ และทรงบรรจุดวงเมืองเดิมลงบนเสาพระหลักเมืองใหม่ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนอ้าย จุลศักราช 1214 ตรงกับสุรทิน ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2395 เวลา 08.48 นาฬิกา

vinayak-vanich

         และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีสังเวยสมโภช เมื่อวันจันทร์ที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2513 เวลา 10.30 นาฬิกา ในการนี้ได้มีการปฏิสังขรณ์ศาลให้สง่างามยิ่งขึ้น โดยได้เปลี่ยนแปลงลักษณะรูปศาลเป็นแบบจตุรมุขส่วน แต่ในส่วนของยอดปรางค์นั้นให้คงไว้เช่นเดิม

         นอกจากพระหลักเมือง ซึ่งเป็นเทพารักษ์สำคัญแล้ว ภายในศาลยังมีเทพารักษ์ผู้พิทักษ์ให้ความร่มเย็นแก่แผ่นดิน และประชาราษฎร์อีก 5 องค์ คือ


         1.พระเสื้อเมือง เป็นเทพารักษ์หล่อสัมฤทธิ์ ปิดทอง สูงประมาณ 93 เซนติเมตร มีหน้าที่คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ คุมกำลังไพล่พลแสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็น สุขปราศจากอริราชศรัตรูมารุกราน
         2.พระทรงเมือง เป็นรูปเทวดาสวมมงกุฎหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทอง สูงประมาณ ๗๕ เซนติเมตร มีหน้าที่รักษาการปกครองและกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ  ดูแลทุกข์สุข ของประชาชน ให้ร่มเย็นเป็นสุขสวัสดี
         3.พระกาฬไชยศรี เป็นเทพารักษ์หล่อสัมฤทธิ์ ปิดทอง สูง 86 เซนติเมตร เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่นำวิญญาณของมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก
         4.เจ้าพ่อเจตคุปต์ เป็นเทพารักษ์แกะสลักด้วยไม้ปิดทองสูง ๑๓๓ เซนติเมตร เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่จดจำความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไปแล้วและอ่านประวัติของผู้ตายเสนอพระยม
         5.เจ้าพ่อหอกลอง เป็นเทพารักษ์หล่อสำริดปิดทอง สูง ๑๐๕ เซนติเมตร มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเกิดขึ้นในแผ่นดิน เป็นต้นว่าคอยรักษาเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน เกิดอัคคีภัยหรือมีข้าศึกศัตรูยกมาประชิดพระนคร




เอกสารอ้างอิง
เอกสารครบรอบ 222 ปี วันสถาปนาองค์พระหลักเมือง 21 เมษายน 2547
โดย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

ผู้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง-พระวิศวกรรม

ผู้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง-พระวิศวกรรม  

       สวัสดีครับ ปีใหม่ผ่านไปพร้อมกับบทความมงคล 2 บทความ คือ มงคล และสิริ 8 -01  กับมงคล และสิริ 8 -02 และที่ผ่านไปอีก อย่างคือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ มหาอุทกภัย ระดับชาติ ที่หลายคนไม่มีทางลืมมันไปได้ ก็อยากให้กำลังใจทุกท่านสู้กับชีวิตในวันข้าง หน้าต่อไปนะครับ ส่วนผมก็ประสบภัยเช่นกันแต่ยังพอปรับตัวได้ ที่จะเสียดายหน่อยก็  hard disk ที่เก็บข้อมูลต่างๆไว้ 3 ลูก จมน้ำเรียบร้อยครับ เหลือที่ติดเครื่องอยู่ลูกเดียวกับ ข้อมูลที่ไม่ประติดประต่อกัน  ก็คิดว่ามีข้อมูลอะไรที่เหลือคงจะโพสท์ขึ้นอินเตอร์เน็ต ดีกว่าขืนเก็บไว้กับตัว ปีหน้ามันจะเหลือหรือเปล่าก็ไม่ทราบให้บังเอิญว่าให้ผมพบรูป พระวิษณุกรรมเก็บไว้ แต่ไม่ทราบที่มาที่ไปว่ามาจากเว็บไหน-ใครเป็นคนวาด แต่ข้อมูลที่มีผู้ค้นคว้าเกียวกับประวัติท่านยังอยู่ติดเครื่องเป็นของ คุณปฏิพันธ์  อุทยานุกูล(สถาบันภาษา  มหาวิทยาลัย ราชภัฏเชียงราย) ก็ขอกล่าวถึงพระวิศวกรรมตามงานค้นคว้าตามนี้



         พระวิศวกรรมนั้นถือเป็นเทพ  "ชั้นผู้ใหญ่"  ที่สถิตย์อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ และเป็นบริวารของพระอินทร์อีกที หนึ่ง  มีชื่ออยู่หลากหลายตามประสาของเทพ  ทั้งพระวิษณุกรรม  พระวิศวกรรมา  พระวิสสุกรรม  วิศวกรรมัน  พระเวสสุกรรม หรือ พระเพชฉลูกรรม  ซึ่งชื่อทั้งหมดที่ว่ามานั้นสามารถกล้อมแกล้มแปลความหมายได้ว่า  "ผู้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง"

         ตำนานเทพเจ้าของฮินดูนั้นกล่าวว่า พระวิศวกรรมมีสามตา  กายสีขาว ทรงอาภรณ์สีเขียว โพกผ้า ในการสร้างรูปเคารพมักจะไม่เหมือนกัน  เช่นบ้างก็สร้างให้พระองค์ถือ คทา  จอบ  ไม้วา  ไม้ฉาก  ผึ่ง (เครื่องมือสําหรับ ถากไม้ รูปร่างคล้ายจอบ แต่มีขนาดเล็กกว่าและด้ามสั้นกว่า)  และลูกดิ่ง  เป็นต้น

         ในพุทธ ศาสนาของเรานั้นพระวิศวกรรมมีบทบาทมาก  ในตำนานเล่าว่า ท่านเป็นผู้สร้างบรรณศาลาและอาศรมให้แก่พระโพธิสัตว์หลายพระองค์  เท่าที่จำได้ก็เห็นจะเป็นพระเวสสันดร  ในมหาเวสสันดรชาดก  เป็นผู้สร้างบันไดเงิน บันไดทอง บันไดแก้วถวายแด่สมเด็จพระสรรญเพชรชุดาญาณสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพื่อใช้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัส-สนคร หลังจากเสร็จภารกิจในการเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ช่วงเข้าพรรษา

         ส่วนในวรรณคดีไทยก็มีปรากฏอยู่หลาย ๆ เรื่องที่พระวิศวกรรมเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะต้องทำตามบัญชาของพระอินทร์ในการช่วยเหลือผู้มีบุญ  เช่นในเรื่องสังข์ทอง(ในปัญญาสชาดกเรียกว่า  "สุวรรณสังขราชกุมาร")  พระอินทร์ก็มีเทวบัญชาให้พระวิศวกรรมไปท้าท้าวสามนต์บิดาของนางจรนาตีคลี  ซึ่งสุดท้ายพระสังข์ก็ต้องถอดรูปเงาะและอาสาออกไปแข่งคลีแทน

         ในรามเกียรติ์ก็บอกว่าเมืองลงกาของทศกัณฐ์และเมืองทวารกาของพระกฤษณะ นั้นก็สำเร็จด้วยฝีมือของพระวิศวกรรมเช่นกัน  และถ้าใครอ่านชื่อเต็มของกรุงเทพฯให้ดีๆ ก็จะพบว่า  พระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้างด้วยนะ ไม่เชื่อลองไปดูคำว่า“…วิษณุกรรมประสิทธิ์”  สิครับ

         อีกตอนหนึ่งที่พระวิศวกรรมมีบทบาทก็คือตอนกำเนิดพระคเณศวร  คือแรกเริ่มเดิมทีพระคเณศก็เหมือนกับกุมารธรรมดาทั่วไปนั่นแหละ  แต่ด้วยวาจาสิทธิ์ของพระนารายณ์ก็เลยทำให้เศียรของพระกุมารคเณศวรขาดหายไป  ครานี้ก็ถึงทีที่พระวิศวกรรมต้องระเห็จไปหาเศียรมาต่อ  ตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ  พอดีไปเจอช้างพลายตัวหนึ่งนอนตายโดยหันหัวไปทางทิศเหนือ  (บ้างก็ว่าทิศใต้)  พระวิศวกรรมก็เลยตัดหัวช้างตัวนั้นแล้วนำมาต่อเข้ากับกายพระกุมารคเณศวร  และพระคเณศวรจึงมีเศียรเป็นช้างแต่นั้นมา

         ในวรรณคดีเรื่องลิลิตนารายณ์สิบปาง  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หก  มีการกล่าวถึงพระวิศวกรรมไว้ในปางที่สอง  กูรมาวตาร  เรื่องของเรื่อก็คือว่ามีการกวนน้ำอมฤตกัน  และเมื่อกวนไป ๆก็เกิดของวิเศษผุดขึ้นมา ได้แก่โคสุรภี  (เทวดายกให้พระฤษีวศิษฐ์)  เหล้า  ต้นไม้ปาริชาต  (พระอินทร์เอาไปเก็บไว้บนสวรรค์)  นางอัปสร  พระจันทร์  (พระอิศวรเอาไปเป็นปิ่นปักผม)  พิษ  (ตอนแรกงูและนาครีบมาสูบ  แต่พระอิศวรกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อโลก  พระองค์ก็เลยเสวยเสียเอง  ทำให้พระศอของพระองค์ไหม้เป็นสีดำ)  พระศรีเทวี  และสุดท้ายน้ำอมฤตก็ตามมา  ในตอนที่พระศรีเทวีหรือพระลักษมีผุดขึ้นมานั้น  พระวิศวกรรมเป็นผู้เนรมิตอาภรณ์ ให้พระนางสรวมใส่  ดังโคลงที่ว่า
                    อันสุรเทพผู้                   ศิลปี
                    วิศวะกรรมาเอก            ช่างนั้น
                    นิรมิตรเครื่องทรงศรี    สุวรรณรัตน์
                    แวววับจับช่อชั้น           นภา
         เมื่อคราวที่พระศรีกำเนิดนั้นปวงเทวาและอสูรต่างหมายปอง  แต่พระนางไม่เหลียวแลใครเลย  พอใส่เสื้อผ้าเสร็จก็ไปถวายบังคมแทบบาทพระวิษณุนารายณ์  พระองค์ก็ทรงโอบกอดรับไว้กับทรวง  ไหน ๆ ก็ก้าวเลยมาถึงตำนานเทพของฮินดูแล้ว  ก็ขอเลยไปถึงเรื่องครอบครัวของพระวิศวกรรมอีกสักนิดก็แล้วกันนะครับ

         พระวิศวกรรมนั้นมีลูกสาวชื่อว่านางสัญชญา  เกิดแต่นางฆฤตาจี  ซึ่งเป็นหนึ่งในนางอัปสร 11  นางที่งามเลิศที่สุด  นางสัญชญาเป็นมเหสีของพระอาทิตย์  ก็อยู่กินด้วยกันนานมาก  แล้วจู่ ๆ วันหนึ่งลูกสาวก็มาบ่นให้พ่อตัวฟังว่าชักจะทนรับรัศมีอันร้อนแรงของพระอาทิตย์ไม่ไหวแล้ว  ด้วยหัวอกของผู้เป็นพ่อที่รักลูกสาว  ก็เลยจับลูกเขยคือพระอาทิตย์มาขูดฉวี  (ผิวกาย)  ออกไปซะส่วนหนึ่ง  (ไม่รู้มากน้อยเท่าใด)  เพื่อลดความร้อนแรงให้น้อยลง  จากนั้นก็เอาส่วนที่ขูดออกมานั้นไปออกแบบเป็นอาวุธนานาชนิดจ่ายแจกแก่เทวดาทั้งหลาย  เช่น  ทำตรีศูลถวายให้พระอิศวร  จักร  สำหรับพระนารายณ์   วชิราวุธ (สายฟ้า)  ให้พระอินทร์ คทา  ให้ท้าวกุเวร และ โตมร (อาวุธสำหรับใช้ซัด - หอก)ให้พระขันทกุมาร เป็นต้น

         บทบาทของนายช่างเอกแห่งสวรรค์ยังไม่หมดนะครับ  เพราะนอกจากจะเป็นนายช่างใหญ่แล้ว  พระวิศวกรรมยังมีความสามารถทางด้านดุริยะดนตรีอีกด้วย  ตามตำนานกล่าวว่า เป็นผู้สร้างเครื่องดนตรีขึ้นใช้ ทำให้เกิดเสียงที่ไพเราะขึ้น ดังนั้น เราจึงเคารพบูชาท่านในฐานะ เป็นครูผู้สร้างสรรค์เครื่องดนตรีให้เกิดขึ้น ตามตำนานเล่าต่อกันมาว่าเมื่อแรกในอดีตกาล มนุษย์ยังไม่มีอารยะธรรมอย่างเช่นทุกวันนี้ การละเล่นและการบันเทิงต่าง ๆ ยังไร้ระบบระเบียบ จะร้องจะเล่นสิ่งใดก็ขาดความไพเราะและความงดงาม จนร้อนถึงพระอินทร์ ด้วยนึกเวทนาเหล่ามนุษย์จึงมีเทวบัญชาให้พระวิศวกรรมนายช่างใหญ่ประจำสวรรค์ ลงมาบอกสอนมนุษย์ให้รู้จักการละเล่นอย่างเหมาะสม พระวิศวกรรมรับเทวโองการแล้วจึงเสด็จลงมายังโลกมนุษย์และจำแลงองค์เป็นชีปะขาวเที่ยวจาริกไป ถึงท้องที่ถิ่นใดก็นำความรู้การละเล่นต่าง ๆ วิชาช่าง รวมถึงวิชาช่างทำเครื่องดนตรีมาสอนแก่มนุษย์ นับแต่นั้นมามนุษย์จึงรู้จักการสร้างและเล่นเครื่องดนตรี จนมีการพัฒนารูปแบบมาจนถึงปัจจุบันนี้

         ในวงการนาฏศิลป์ไทยมีการทำหัวโขนของพระวิศวกรรมด้วย  โดยมีสองแบบคือทำเป็นหน้ามนุษย์ สีเขียวแก่ หรือเขียวใบแค สวมเทริด หรือมงกุฎยอดน้ำเต้า  และ  ทำเป็นหน้ามนุษย์ สีเขียวแก่ หรือเขียวใบแค ศีรษะโล้น มีกระบังหน้าหรือโพกผ้าสีเขียนลายดอกไม้บริเวณผม นัยว่าแบบนี้แสดงถึงช่วงที่ทำงานช่างจึงไม่ทรงเครื่องประดับ แต่มักพบเห็นได้น้อยกว่าแบบแรก…

         (ที่กล่าวมาทั้งหมดนี่ผู้เรียบเรียงต้องการจะรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพระวิศวกรรมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะนึกขึ้นมาได้   และเขียนด้วยภาษาที่เป็นวิชาการน้อยที่สุด  ดังนั้นผู้อ่านที่จะนำไปใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการจึงควรชั่งใจให้จงดี  เพราะข้อผิดพลาดจากการนึกถึงเรื่องราวที่ผู้เรียบเรียงอ่านไว้เมื่อเกือบสิบปีแล้วย่อมจักต้องมีข้อผิดพลาดอยู่บ้างซึ่งก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย)