วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ

ประวัติศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ
         เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชการที่ 1 โปรดเกล้า ฯให้ตั้งการพระราชพิธียกเสาหลักเมือง ตามโบราณราชประเพณีเพื่อเป็นนิมิตรหมายหลักชัยสำคัญประจำพระมหานครราชธานี ณ วันอาทิตย์ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปี ขาล จุลศักราช 1144 ตรงกับสุรทิน ที่ 21  เมษายน พุทธศักราช 2325 เวลา 06.54 นาฬิกา  และต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อเสด็จขึ้นครองราช ทรงตรวจดวงพระชาตาของพระองค์ ซึ่งสถิตอยู่ ณ ราศีกันย์ เป็นอริแก่ลัคณาดวงเมืองกรุงเทพมหานคร เห็นได้ชัดว่าดวงพระชาตาไม่กินกับดวงเมือง พระองค์จึงทรงแก้เคล็ดดวงเมือง โดยโปรดให้ขุดพระหลักเมืององค์เดิม ในการนี้พระองค์ได้โปรดให้ช่างแปลงรูปศาลเสียใหม่จากรูปศาลาเป็นรูปปรางค์ และทรงบรรจุดวงเมืองเดิมลงบนเสาพระหลักเมืองใหม่ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนอ้าย จุลศักราช 1214 ตรงกับสุรทิน ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2395 เวลา 08.48 นาฬิกา

vinayak-vanich

         และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีสังเวยสมโภช เมื่อวันจันทร์ที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2513 เวลา 10.30 นาฬิกา ในการนี้ได้มีการปฏิสังขรณ์ศาลให้สง่างามยิ่งขึ้น โดยได้เปลี่ยนแปลงลักษณะรูปศาลเป็นแบบจตุรมุขส่วน แต่ในส่วนของยอดปรางค์นั้นให้คงไว้เช่นเดิม

         นอกจากพระหลักเมือง ซึ่งเป็นเทพารักษ์สำคัญแล้ว ภายในศาลยังมีเทพารักษ์ผู้พิทักษ์ให้ความร่มเย็นแก่แผ่นดิน และประชาราษฎร์อีก 5 องค์ คือ


         1.พระเสื้อเมือง เป็นเทพารักษ์หล่อสัมฤทธิ์ ปิดทอง สูงประมาณ 93 เซนติเมตร มีหน้าที่คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ คุมกำลังไพล่พลแสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็น สุขปราศจากอริราชศรัตรูมารุกราน
         2.พระทรงเมือง เป็นรูปเทวดาสวมมงกุฎหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทอง สูงประมาณ ๗๕ เซนติเมตร มีหน้าที่รักษาการปกครองและกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ  ดูแลทุกข์สุข ของประชาชน ให้ร่มเย็นเป็นสุขสวัสดี
         3.พระกาฬไชยศรี เป็นเทพารักษ์หล่อสัมฤทธิ์ ปิดทอง สูง 86 เซนติเมตร เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่นำวิญญาณของมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก
         4.เจ้าพ่อเจตคุปต์ เป็นเทพารักษ์แกะสลักด้วยไม้ปิดทองสูง ๑๓๓ เซนติเมตร เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่จดจำความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไปแล้วและอ่านประวัติของผู้ตายเสนอพระยม
         5.เจ้าพ่อหอกลอง เป็นเทพารักษ์หล่อสำริดปิดทอง สูง ๑๐๕ เซนติเมตร มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเกิดขึ้นในแผ่นดิน เป็นต้นว่าคอยรักษาเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน เกิดอัคคีภัยหรือมีข้าศึกศัตรูยกมาประชิดพระนคร




เอกสารอ้างอิง
เอกสารครบรอบ 222 ปี วันสถาปนาองค์พระหลักเมือง 21 เมษายน 2547
โดย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น