วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

ผู้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง-พระวิศวกรรม

ผู้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง-พระวิศวกรรม  

       สวัสดีครับ ปีใหม่ผ่านไปพร้อมกับบทความมงคล 2 บทความ คือ มงคล และสิริ 8 -01  กับมงคล และสิริ 8 -02 และที่ผ่านไปอีก อย่างคือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ มหาอุทกภัย ระดับชาติ ที่หลายคนไม่มีทางลืมมันไปได้ ก็อยากให้กำลังใจทุกท่านสู้กับชีวิตในวันข้าง หน้าต่อไปนะครับ ส่วนผมก็ประสบภัยเช่นกันแต่ยังพอปรับตัวได้ ที่จะเสียดายหน่อยก็  hard disk ที่เก็บข้อมูลต่างๆไว้ 3 ลูก จมน้ำเรียบร้อยครับ เหลือที่ติดเครื่องอยู่ลูกเดียวกับ ข้อมูลที่ไม่ประติดประต่อกัน  ก็คิดว่ามีข้อมูลอะไรที่เหลือคงจะโพสท์ขึ้นอินเตอร์เน็ต ดีกว่าขืนเก็บไว้กับตัว ปีหน้ามันจะเหลือหรือเปล่าก็ไม่ทราบให้บังเอิญว่าให้ผมพบรูป พระวิษณุกรรมเก็บไว้ แต่ไม่ทราบที่มาที่ไปว่ามาจากเว็บไหน-ใครเป็นคนวาด แต่ข้อมูลที่มีผู้ค้นคว้าเกียวกับประวัติท่านยังอยู่ติดเครื่องเป็นของ คุณปฏิพันธ์  อุทยานุกูล(สถาบันภาษา  มหาวิทยาลัย ราชภัฏเชียงราย) ก็ขอกล่าวถึงพระวิศวกรรมตามงานค้นคว้าตามนี้



         พระวิศวกรรมนั้นถือเป็นเทพ  "ชั้นผู้ใหญ่"  ที่สถิตย์อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ และเป็นบริวารของพระอินทร์อีกที หนึ่ง  มีชื่ออยู่หลากหลายตามประสาของเทพ  ทั้งพระวิษณุกรรม  พระวิศวกรรมา  พระวิสสุกรรม  วิศวกรรมัน  พระเวสสุกรรม หรือ พระเพชฉลูกรรม  ซึ่งชื่อทั้งหมดที่ว่ามานั้นสามารถกล้อมแกล้มแปลความหมายได้ว่า  "ผู้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง"

         ตำนานเทพเจ้าของฮินดูนั้นกล่าวว่า พระวิศวกรรมมีสามตา  กายสีขาว ทรงอาภรณ์สีเขียว โพกผ้า ในการสร้างรูปเคารพมักจะไม่เหมือนกัน  เช่นบ้างก็สร้างให้พระองค์ถือ คทา  จอบ  ไม้วา  ไม้ฉาก  ผึ่ง (เครื่องมือสําหรับ ถากไม้ รูปร่างคล้ายจอบ แต่มีขนาดเล็กกว่าและด้ามสั้นกว่า)  และลูกดิ่ง  เป็นต้น

         ในพุทธ ศาสนาของเรานั้นพระวิศวกรรมมีบทบาทมาก  ในตำนานเล่าว่า ท่านเป็นผู้สร้างบรรณศาลาและอาศรมให้แก่พระโพธิสัตว์หลายพระองค์  เท่าที่จำได้ก็เห็นจะเป็นพระเวสสันดร  ในมหาเวสสันดรชาดก  เป็นผู้สร้างบันไดเงิน บันไดทอง บันไดแก้วถวายแด่สมเด็จพระสรรญเพชรชุดาญาณสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพื่อใช้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัส-สนคร หลังจากเสร็จภารกิจในการเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ช่วงเข้าพรรษา

         ส่วนในวรรณคดีไทยก็มีปรากฏอยู่หลาย ๆ เรื่องที่พระวิศวกรรมเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะต้องทำตามบัญชาของพระอินทร์ในการช่วยเหลือผู้มีบุญ  เช่นในเรื่องสังข์ทอง(ในปัญญาสชาดกเรียกว่า  "สุวรรณสังขราชกุมาร")  พระอินทร์ก็มีเทวบัญชาให้พระวิศวกรรมไปท้าท้าวสามนต์บิดาของนางจรนาตีคลี  ซึ่งสุดท้ายพระสังข์ก็ต้องถอดรูปเงาะและอาสาออกไปแข่งคลีแทน

         ในรามเกียรติ์ก็บอกว่าเมืองลงกาของทศกัณฐ์และเมืองทวารกาของพระกฤษณะ นั้นก็สำเร็จด้วยฝีมือของพระวิศวกรรมเช่นกัน  และถ้าใครอ่านชื่อเต็มของกรุงเทพฯให้ดีๆ ก็จะพบว่า  พระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้างด้วยนะ ไม่เชื่อลองไปดูคำว่า“…วิษณุกรรมประสิทธิ์”  สิครับ

         อีกตอนหนึ่งที่พระวิศวกรรมมีบทบาทก็คือตอนกำเนิดพระคเณศวร  คือแรกเริ่มเดิมทีพระคเณศก็เหมือนกับกุมารธรรมดาทั่วไปนั่นแหละ  แต่ด้วยวาจาสิทธิ์ของพระนารายณ์ก็เลยทำให้เศียรของพระกุมารคเณศวรขาดหายไป  ครานี้ก็ถึงทีที่พระวิศวกรรมต้องระเห็จไปหาเศียรมาต่อ  ตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ  พอดีไปเจอช้างพลายตัวหนึ่งนอนตายโดยหันหัวไปทางทิศเหนือ  (บ้างก็ว่าทิศใต้)  พระวิศวกรรมก็เลยตัดหัวช้างตัวนั้นแล้วนำมาต่อเข้ากับกายพระกุมารคเณศวร  และพระคเณศวรจึงมีเศียรเป็นช้างแต่นั้นมา

         ในวรรณคดีเรื่องลิลิตนารายณ์สิบปาง  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หก  มีการกล่าวถึงพระวิศวกรรมไว้ในปางที่สอง  กูรมาวตาร  เรื่องของเรื่อก็คือว่ามีการกวนน้ำอมฤตกัน  และเมื่อกวนไป ๆก็เกิดของวิเศษผุดขึ้นมา ได้แก่โคสุรภี  (เทวดายกให้พระฤษีวศิษฐ์)  เหล้า  ต้นไม้ปาริชาต  (พระอินทร์เอาไปเก็บไว้บนสวรรค์)  นางอัปสร  พระจันทร์  (พระอิศวรเอาไปเป็นปิ่นปักผม)  พิษ  (ตอนแรกงูและนาครีบมาสูบ  แต่พระอิศวรกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อโลก  พระองค์ก็เลยเสวยเสียเอง  ทำให้พระศอของพระองค์ไหม้เป็นสีดำ)  พระศรีเทวี  และสุดท้ายน้ำอมฤตก็ตามมา  ในตอนที่พระศรีเทวีหรือพระลักษมีผุดขึ้นมานั้น  พระวิศวกรรมเป็นผู้เนรมิตอาภรณ์ ให้พระนางสรวมใส่  ดังโคลงที่ว่า
                    อันสุรเทพผู้                   ศิลปี
                    วิศวะกรรมาเอก            ช่างนั้น
                    นิรมิตรเครื่องทรงศรี    สุวรรณรัตน์
                    แวววับจับช่อชั้น           นภา
         เมื่อคราวที่พระศรีกำเนิดนั้นปวงเทวาและอสูรต่างหมายปอง  แต่พระนางไม่เหลียวแลใครเลย  พอใส่เสื้อผ้าเสร็จก็ไปถวายบังคมแทบบาทพระวิษณุนารายณ์  พระองค์ก็ทรงโอบกอดรับไว้กับทรวง  ไหน ๆ ก็ก้าวเลยมาถึงตำนานเทพของฮินดูแล้ว  ก็ขอเลยไปถึงเรื่องครอบครัวของพระวิศวกรรมอีกสักนิดก็แล้วกันนะครับ

         พระวิศวกรรมนั้นมีลูกสาวชื่อว่านางสัญชญา  เกิดแต่นางฆฤตาจี  ซึ่งเป็นหนึ่งในนางอัปสร 11  นางที่งามเลิศที่สุด  นางสัญชญาเป็นมเหสีของพระอาทิตย์  ก็อยู่กินด้วยกันนานมาก  แล้วจู่ ๆ วันหนึ่งลูกสาวก็มาบ่นให้พ่อตัวฟังว่าชักจะทนรับรัศมีอันร้อนแรงของพระอาทิตย์ไม่ไหวแล้ว  ด้วยหัวอกของผู้เป็นพ่อที่รักลูกสาว  ก็เลยจับลูกเขยคือพระอาทิตย์มาขูดฉวี  (ผิวกาย)  ออกไปซะส่วนหนึ่ง  (ไม่รู้มากน้อยเท่าใด)  เพื่อลดความร้อนแรงให้น้อยลง  จากนั้นก็เอาส่วนที่ขูดออกมานั้นไปออกแบบเป็นอาวุธนานาชนิดจ่ายแจกแก่เทวดาทั้งหลาย  เช่น  ทำตรีศูลถวายให้พระอิศวร  จักร  สำหรับพระนารายณ์   วชิราวุธ (สายฟ้า)  ให้พระอินทร์ คทา  ให้ท้าวกุเวร และ โตมร (อาวุธสำหรับใช้ซัด - หอก)ให้พระขันทกุมาร เป็นต้น

         บทบาทของนายช่างเอกแห่งสวรรค์ยังไม่หมดนะครับ  เพราะนอกจากจะเป็นนายช่างใหญ่แล้ว  พระวิศวกรรมยังมีความสามารถทางด้านดุริยะดนตรีอีกด้วย  ตามตำนานกล่าวว่า เป็นผู้สร้างเครื่องดนตรีขึ้นใช้ ทำให้เกิดเสียงที่ไพเราะขึ้น ดังนั้น เราจึงเคารพบูชาท่านในฐานะ เป็นครูผู้สร้างสรรค์เครื่องดนตรีให้เกิดขึ้น ตามตำนานเล่าต่อกันมาว่าเมื่อแรกในอดีตกาล มนุษย์ยังไม่มีอารยะธรรมอย่างเช่นทุกวันนี้ การละเล่นและการบันเทิงต่าง ๆ ยังไร้ระบบระเบียบ จะร้องจะเล่นสิ่งใดก็ขาดความไพเราะและความงดงาม จนร้อนถึงพระอินทร์ ด้วยนึกเวทนาเหล่ามนุษย์จึงมีเทวบัญชาให้พระวิศวกรรมนายช่างใหญ่ประจำสวรรค์ ลงมาบอกสอนมนุษย์ให้รู้จักการละเล่นอย่างเหมาะสม พระวิศวกรรมรับเทวโองการแล้วจึงเสด็จลงมายังโลกมนุษย์และจำแลงองค์เป็นชีปะขาวเที่ยวจาริกไป ถึงท้องที่ถิ่นใดก็นำความรู้การละเล่นต่าง ๆ วิชาช่าง รวมถึงวิชาช่างทำเครื่องดนตรีมาสอนแก่มนุษย์ นับแต่นั้นมามนุษย์จึงรู้จักการสร้างและเล่นเครื่องดนตรี จนมีการพัฒนารูปแบบมาจนถึงปัจจุบันนี้

         ในวงการนาฏศิลป์ไทยมีการทำหัวโขนของพระวิศวกรรมด้วย  โดยมีสองแบบคือทำเป็นหน้ามนุษย์ สีเขียวแก่ หรือเขียวใบแค สวมเทริด หรือมงกุฎยอดน้ำเต้า  และ  ทำเป็นหน้ามนุษย์ สีเขียวแก่ หรือเขียวใบแค ศีรษะโล้น มีกระบังหน้าหรือโพกผ้าสีเขียนลายดอกไม้บริเวณผม นัยว่าแบบนี้แสดงถึงช่วงที่ทำงานช่างจึงไม่ทรงเครื่องประดับ แต่มักพบเห็นได้น้อยกว่าแบบแรก…

         (ที่กล่าวมาทั้งหมดนี่ผู้เรียบเรียงต้องการจะรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพระวิศวกรรมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะนึกขึ้นมาได้   และเขียนด้วยภาษาที่เป็นวิชาการน้อยที่สุด  ดังนั้นผู้อ่านที่จะนำไปใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการจึงควรชั่งใจให้จงดี  เพราะข้อผิดพลาดจากการนึกถึงเรื่องราวที่ผู้เรียบเรียงอ่านไว้เมื่อเกือบสิบปีแล้วย่อมจักต้องมีข้อผิดพลาดอยู่บ้างซึ่งก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น