วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Princess Vilas’s story พระองค์เจ้าหญิงวิลาส


       สวัสดีครับ นี่ก็ใกล้เข้าวันสำคัญที่ปวงชนชาวไทยรอคอยแล้วนะครับก็คือวัน วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลดุลยเดช วันที่ 5 ธันวาคมนี้ แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า เมื่อ 199 ปีที่แล้ว วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2354 ก็เป็นวันประสูติของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวิลาส ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 3กับ เจ้าจอมมารดาบาง มีพระอนุชาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ทรงเป็นพระปิตุจฉาของ สมเด็จพระนางเจ้า โสมนัสวัฒนาวดี สิ้นและพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ. 2388 พระราชธิดาองค์นี้ค่อนข้างมีบทบาทอย่างมากในยุคนั้นกล่าวได้คือ

vinayak-vanich.blogspot.com



       - กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเป็นพระราชธิดาองค์โปรดในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกให้เป็น "นางแก้ว" ซึ่งเป็น 1 ใน 7 รัตนะของพระองค์อีกด้วย” - (http://th.wikipedia.org/)
ram3       - พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเสียสละและอดทนอย่างยิ่งต่อการที่จะทำนุบำรุงบ้านเมือง พระศาสนา และอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ตลอดรัชกาลของพระองค์ ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถึงกุญแจแห่งความสำเร็จว่า ประกอบด้วยแก้ว 5 ประการ สำหรับเพื่อแผ่นดิน อันได้แก่
       1. บ่อแก้ว หมายถึง พระยาราชมนตรี (ถู่) ซึ่งเป็นราชบัญฑิตที่น่าเลื่อมใส
       2. ช้างแก้ว หมายถึง พระยาช้างเผือกนามว่า พระเทพกุญชร พระยาเศวตกุญชร และพระยามงคลเดชพงศ์
       3. นางแก้ว หมายถึง พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิงวิลาศ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ      
       4. ขุนพลแก้ว หมายถึง เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพผู้คอยปกป้องพระราชอาณาเขตให้พ้นจากการรุกรานของศัตรู      
       5. ขุนคลังแก้ว หมายถึง พระศรีสหเทพ (ทองเพ็ง ศรีเพ็ญ)    


       อย่างแรกที่พวกเราคนในยุคปัจจุบันทราบคือ ท่านอยู่ในบทบาท ของ”นางแก้ว” หนึ่งในกุญแจแห่งความสำเร็จในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ที่ในยุคนั้นนับว่า บทบาทของสตรีช่างน้อยเหลือเกิน แล้วท่านผู้อ่านทราบอีกมั๊ยครับว่า วันลอยกระทงที่ท่านผู้อ่านเพิ่งไปลอยกันมา กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ท่านก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พวกเราคนในยุคปัจจุบันอีกตามประวัติดังนี้
       “ประเพณีลอยกระทง ทำด้วยใบตองในระยะแรก จำกัดอยู่ในราชสำนักกรุงเทพฯ เท่านั้น มีรายพรรณาเป็นรายละเอียดอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 3 ว่ากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ราชธิดาองค์โปรดได้แต่งกระทงเล่นทุกปี เมื่อนานเข้าก็เริ่มแพร่หลายสู่ราษฎรในกรุงเทพฯ แล้วขยายไปยังหัวเมืองใกล้เคียงในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” (ข้อมูล : สถาบันอยุธยาศึกษา - ลอยกระทง ขอขมาธรรมชาติ)

       นอกจากเรื่องกระทงใบตองที่ในยุคปัจจุบันยังมีประดิษฐ์กันอยู่แล้ว ในยุคของท่านนั้นมีกวีเอกอยู่หลายท่าน แต่จะขอกล่าวถึง 2 ท่านที่เกี่ยวข้องกับ พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพท่านแรกก็คือ “คุณสุวรรณ”
       คุณสุวรรณนี้ เมื่อเจริญวัย บิดามารดา จึงได้ถวายตัวให้รับราชการฝ่ายใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าคุณสุวรรณ "มีอุปนิสัยใจรักการแต่งกลอนมาแต่ยังเด็ก ได้ถวายตัวทำราชการฝ่ายในตามเหล่าสกุล เมื่อรัชกาลที่ 3 อยู่ที่ตำหนักพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ"[1]
       คุณสุวรรณได้แต่งเพลงยาวทำนองเป็นจดหมายเหตุบันทึกเหตุการณ์ขึ้น 2 เรื่องคือ เพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ และเพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เพลงยาว 2 เรื่องนี้มีการบันทึกเรื่องราวของหญิงชาววังไว้เป็นอย่างดี รวมถึง "การเล่นเพื่อน" ของหญิงชาววังด้วย

       คุณสุวรรณนั้น พวกชาววังสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ มักพูดกันว่า เธอเสียสติ หรือเจ้านายบางพระองค์วิจารณ์ว่า เธอฟุ้งไปด้วยเรื่องหมกมุ่น แต่งหนังสือ 'บ้าๆบอๆ' เช่นแต่งกลอน ไม่เป็นเรื่องเป็นราว เรื่องพระมะเหลเถไถ และอยู่ดีๆก็เอาตัวละครในเรื่องต่างๆมารวมอยู่ในเรื่องเดียวกัน (คือเรื่องอุณรุทร้อยเรื่อง) แต่ที่จริงแล้วคุณสุวรรณคงไม่ได้บ้าหรือเสียสติอย่างที่พูดๆกัน ที่เธอแต่งเรื่องพระมะเหลเถไถ หรืออุณรุทร้อยเรื่อง ก็คงเป็นด้วยความตั้งใจจะทำอะไรๆให้แปลกให้แหวกแนวออกไป หรืออาจแต่งประชดประชันระบายอารมณ์ที่เก็บเอาไว้ คุณสุวรรณคงไม่ได้บ้า หากแต่ 'ทำเป็นบ้า' เพราะคุณสุวรรณนั้น เล่ากันมาว่า เธอจงรักภักดีใน พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ในรัชกาลที่ ๓ นักหนา เมื่อสิ้นพระชนม์คุณสุวรรณจึงเศร้าโศกเสียใจมาก (กรมศิลปากร.รวมวรรณคดีห้าเรื่อง(บทละครเรื่องพระมะเหลเถไถ บทละครเรื่องอณรุทร้อยเรื่อง กลอนเพลงยาวเรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ กลอนเพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอับสรสุดาเทพ และบทละครเรื่อง ระเด่นลันได).ศิลปบรรณาคาร.2511)

       เป็นไงบ้างครับผ่านไป 1 กวีในยุคนั้นซึ่งหนังสือที่คุณสุวรรณแต่งคงผ่านสายตาผู้อ่านในยุคนี้หลายๆคนและกลายเป็นละครจักรๆวงศ์ๆ ช่วงเช้าๆวันเสาร์-อาทิตย์ในปัจจุบันอีก ส่วนกวีอีก 1 ท่าน ชื่อของท่านในยุคปัจจุบันนี้ ก็กลายเป็น landmark ประจำ อ.แกลง จ.ระยองไปเรียบร้อยแล้วครับ และชื่อของท่านก็กลายเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในปัจจุบันคือ"วันสุนทรภู่"

sunthornphu_01 (ในการนี้ รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศยกย่อง "สุนทรภู่" ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก โดยในวาระครบรอบ 200 ปีเกิด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2529 ต่อมา นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงได้กำหนดให้ วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีเป็น "วันสุนทรภู่" ซึ่งนับแต่นั้น เมื่อถึงวันสุนทรภู่ จะมีการจัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่"วัดเทพธิดาราม" และ ที่จังหวัดระยอง และมีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่างๆ โดยทั่วไป )

       ใช่แล้วครับเป็นใครไปไม่ได้นอกจากท่าน “สุนทรภู่” ลองค้นข้อมูลที่เกี่ยวพันระหว่างกวีท่านนี้และกรมหมื่นอับสรสุดาเทพก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะแม้แต่ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ก็ได้เขียนถึงท่านว่า "กรมหมื่นอับสรสุดาเทพ เป็นถึงพระราชบุตรีที่โปรดปรานมาก คนก็เข้าพึ่งพระบารมีแทบทั้งแผ่นดิน" แน่นอนว่าท่านคงไม่ธรรมดาแน่ เพราะแม้แต่สุนทรภู่ที่บวชหนีราชภัย ก็ยังเข้ามาขอพึ่งพระบารมีเจ้านายองค์นี้ โดยย้ายจากวัดเลียบราชบูรณะมาอยู่วัดเทพธิดารามถึง 3 ปี (พ.ศ.2383-2385) และได้แต่ง รำพันพิลาป ขึ้นที่นี่ก่อนลาสึก

1191873799       นี่ไงครับ สตรีผู้ที่มีส่วนและอยู่เบื้องหลัง ชื่อเสียงระดับโลกของกวีเอกไทย และมีอีกเรื่องที่น่าสนใจสำหรับคนในยุคปัจจุบัน ก็คือเรื่อง "ภิกษุณี" ที่ทุกวันนี้มีข่าวในประเทศว่าจะให้มีหรือไม่สำหรับภิกษุณี นี้ หรือถ้าพวกเราอยากเห็น ภิกษุณี ตัวเป็นๆ ก็ต้องเดินทางไปดูที่ ศรีลังกา หรือไต้หวัน แต่ถ้าพวกเราอยากเห็นจริงๆในรูปแบบประติมากรรม ก็ให้ไปดูที่”วัดเทพธิดาราม” ซึ่งเป็นวัดประจำพระองค์ของเจ้านายพระองค์นี้ ภายในวัดจะมี ประติมากรรมกลุ่มผู้หญิงอยู่ในพระวิหาร เป็นรูปหล่อตะกั่วปิดทองที่เรียกกันว่ากลุ่ม "ภิกษุณี" จำนวน 52 รูป ตั้งอยู่หน้าพระประธานที่ประดิษฐานอยู่เหนือบัลลังก์บุษบก ที่เชื่อว่าเป็น "ภิกษุณี" เพราะโกนศีรษะและแต่งตัวแบบนักบวช พวกเธออยู่ในท่านั่ง มีอยู่ด้วยกัน 4 แถว (อีกอย่างที่เราเกิดสงสัยขึ้นมาก็คือบางทีพวกเธอทั้งหมดอาจเป็นตัวแทนของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพและนางข้าหลวงผู้ติดตามก็ได้เพราะรูปปั้นเหล่านั้นถึงแม้จะโกนผม แต่ทั้งหมดล้วนกันไรซึ่งแสดงว่าเธอทั้งหลายเป็นสตรีชาววัง-วารุณี โอสถารมย์ (ห ม า ย เ ห ตุ สั ง ค ม – เที่ยววัดเทพธิดาแล้วคิดถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ))


  และถ้าท่านผู้อ่านอยากรู้เรื่อง ภิกษุณี เพิ่มเติม ลองตามลิ๊งนี้ดูนะครับ  http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=1017        ท้ายที่สุดนี้ผมขออนุญาตนำ ข้อความดีๆของ คุณวารุณี โอสถารมย์ มาปิดท้ายบทความนี้เพราะเธอพรรณาได้จับใจผมจริงๆครับ

       “ถ้าเช่นนั้น วัดเทพธิดารามวรวิหารที่เราเข้าไปเที่ยวชมนั้น คงไม่ได้เป็นเพียงแค่วัดที่มีอดีตให้จดจำว่าสร้างให้กับเจ้านายสตรีสูงศักดิ์พระองค์หนึ่ง เพื่อให้ทำหน้าที่สืบทอดพุทธศาสนาเท่านั้น หากยังเป็นอนุสรณ์แสดงถึงเป็นตัวตนของเจ้านายพระองค์นี้ด้วย…...อนุสรณ์ที่รอวันเวลาให้ผู้คนในยุคปัจจุบันค้นพบและทำความรู้จัก…...ให้ระลึกขึ้นได้ว่าครั้งหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งเคยมีบทบาทในสังคมไทย”.......จนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น