วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Happy New Year 2012

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ตลาดร่มหุบ

       ตลาดร่มหุบตลาดแม่กลอง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตลาดเสี่ยงตาย” เป็นตลาดที่ติดอยู่กับ สถานีรถไฟแม่กลอง และก็เป็นส่วนหนึ่งของตลาดเทศบาลจังหวัดสมุดสงคราม ชื่อเต็มๆที่เป็นทางการ

vinayak-vanich
ของตลาดแห่งนี้ก็คือตลาดราชพัสดุ กรมธนารักษ์ เริ่มมาตั้งขาย บริเวณทางริมรถไฟประมาณปี พ.ศ. 2527 ซึ่งเมื่อแรกสร้างเสร็จและเริ่มเปิดการค้าขายก็ดูจะเหมือนตลาดปรกติ แต่ในที่สุดพื้นที่ตลาดด้านในตัวอาคารเกิดความแออัดพื้นที่ไม่เพียงพอ พ่อค้าแม่ค้าจึงเริ่มขยายแผงค้าออกมาด้านริมทางรถไฟ และในที่สุดก็กางร่มกางผ้าใบปิดคลุมบนรางรถไฟโดยเปิดช่องกลางรางรถไฟให้เป็นทางเดินของผู้มาจับจ่ายข้าวของในตลาด

       ด้วยเป็นเส้นทางรถไฟสายสั้นๆที่ใช้กันในท้องถิ่นโดยวันหนึ่งๆจะมีขบวนรถไฟจากสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่วิ่งมาสถานีมหาชัยเป็นหลัก และมีรถไฟท้องถิ่นวิ่งให้บริการต่อมาถึงสถานีแม่กลองแห่งนี้วันละ 4 ขบวน ซึ่งเป็นขบวนสั้น ๆ มีพียง 2 ตู้โดยสารเท่านั้น แม่ค้าพ่อค้าจึงจับจองใช้ประโยชน์พื้นที่บนรางรถไฟทำมาค้าขายกันเป็นส่วนใหญ่ และปล่อยให้ขบวนรถไฟใช้ทางผ่านไปในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีในแต่ละขบวน โดยพ่อค้าแม่ค้าในตลาดจะรู้เวลารถวิ่งผ่านเป็นอย่างดี

vinayak-vanich

 โดยรถไฟจะผ่านตลาดร่มหุบเข้าจอดที่สถานีแม่กลองเวลา 08.30 น.,11.10 น.,14.30 น.และ17.40 น.โดยประมาณ และออกจากสถานีแม่กลองเวลา 06.20 น.,09.00 น.,11.30 น. และ 15.30 น.  ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่รถไฟแล่นมาใกล้จะถึงในชั่วไม่กี่อึดใจ พ่อค้าแม่ค้าก็จะรีบเก็บผ้าใบ หุบร่ม บางร้านก็เข็นดันแผงขายสินค้าที่ติดล้อเลื่อนเล็ก ๆ ไว้ด้านล่าง เลื่อนหลบเข้ามาให้พ้นจาก  ขบวนรถไฟที่จะเคลื่อนผ่าน บางแผงที่วางสินค้าแบบแบกับพื้นดินติดชิดรางรถไฟก็ตั้งวางสินค้าอยู่เช่นนั้นโดยไม่เก็บ เพราะคำนวณความสูงของพื้นตู้รถไฟไว้แล้วว่าสูงพ้นและสามารถ เคลื่อนผ่านไปได้อย่างไม่มีปัญหา เรียกว่าพ่อค้าแม่ค้าที่นี่มีประสบการณ์ มีการคำนวณและการออกแบบดัดแปลงแผงค้าของตนให้พร้อมกับปฏิบัติการหลบหลีกการเคลื่อนผ่านของขบวนรถไฟไว้เป็นอย่างดี ซึ่งตอนที่ขบวนรถไฟเคลื่อนผ่านนั้น ก็วิ่งไปด้วยความเร็วปรกติ มิได้ค่อยๆคลานผ่านช้าๆแต่อย่างใด 

vinayak-vanich


และเมื่อขบวนรถผ่านไปนั้น พ่อค้าแม่ค้าก็เริ่มกางร่ม กางผ้าใบ ดันแผงสินค้าจัดวางสินค้าเข้าให้ที่เข้าทางจนเรียบร้อยเหมือนเดิมขายของกันอย่างเป็นปรกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ส่วนผู้คนที่มาเดินจับจ่ายก็รอให้รถไฟผ่านเสร็จก็เลือกซื้อของที่ค้างอยู่เมือนาทีที่แล้ว ใช่ครับ กิจกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นและเป็นไปภายในเวลาไม่ถึง 1 นาทีด้วยซ้ำ นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อตลาดร่มหุบ และที่มาของความเป็นตลาดที่มีความพิสดารจนมีชื่อดังไปทั่ว


       และเมื่อมาเยือนตลาดแม่กลอง หรือตลาดร่มหุบ แล้วก็อย่าลืมซื้อปลาทูแม่กลองของแท้ติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากด้วยนะครับ โดยปลาทูแม่กลองของแท้นั้นต้องตัวไม่โตนักและมีลักษณะลำตัวสั้นป้อมเป็นปลา หน้างอคอหักเพราะปลาทูแม่กลองนั้นเขานิยมหักคอให้หัวปลางอเข้ากับรูปทรงของเข่งที่มีพื้นที่จำกัด และท่านจะได้พบเห็นสินค้าอื่นๆอีกมากมายที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบในท้องถิ่นนั้นๆด้วยครับ



การเดินทางไปตลาดร่มหุบ
       1. รถส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ถนนพระราม 2 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ เดิม)   ไปถึงหลัก กม.ที่ 63 ชิดซ้าย ใช้ทางคู่ขนานต่างระดับ เข้าตัวเมืองสมุทรสงครามถึงสี่แยกแรกตรง    ไปเข้าตัวตลาดถึงสี่แยกที่สอง(แยก โรงพยาบาล สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า) เลี้ยวขวาและตรงไป  ข้ามทางรถไฟ ก็จะถึง ตลาดแม่กลอง หรือตลาดรถไฟ
       2. รถไฟ รถไฟไปแม่กลอง จะเริ่มจากวงเวียนใหญ่ (นั่งจากหัวลำโพงไม่ได้) โดยไปลงที่มหาชัย  และจากมหาชัยนั่งเรือข้ามฟากไปฝั่งท่าฉลอม เพื่อขึ้นรถไฟต่อจากสถานีบ้านแหลมไปยังแม่กลอง(ปลายทาง)ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 10บาท(ตอนนี้ฟรี) ถ้าคุณอยู่ที่โบกี้สุดท้าย แล้วมองผ่านกระจกหลังรถออกไป เวลาผ่าน ตลาด พอรถไฟผ่านไป พ่อค้าแม่ค้าก็จะกลับมาตั้งร้านเหมือนเดิม ชนิดไล่หลังรถไฟกันเลยทีเดียว
       3.รถประจำทาง,รถตู้ บริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถกรุงเทพฯ-สมุทรสงคราม ลงที่ตลาดแม่กลองได้เลย โดยมีรถจากสถานี ขนส่งสายใต้ ตั้งแต่เวลา 05.50-21.00   หรือนั่งรถตู้จากอนุสาวรีย์ชัย สายแม่กลอง มีรถออก ทุกชั่วโมง ไปลงที่ตลาดแม่กลอง



       ส่วนท่านผู้อ่านที่เดินทางโดยรถส่วนตัวก็สามารถจะจอดรถไว้ที่ลานจอดรถหน้าวัดเพชรสมุทรวรวิหารหรือวัดหลวงพ่อบ้านแหลมที่อยู่ใกล้ๆ เข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่อวัดบ้านแหลมพระพุทธรูปสำคัญของเมืองสมุทรสงคราม แล้วค่อยเดินมาที่ตัวตลาดซึ่งใช้เวลาเดินเพียงประมาณ 5 นาที .... ขอให้สนุกในการเดินทางนะครับ
(รูปภาพเพิ่มเติม คลิ๊ก)

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ค่ายจีนบางกุ้งกับโบสถ์ปรกโพธิ์

       เมื่อย้อนไปในยุคสมัยอยุธยา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพเรือ มาตั้งค่ายที่ค่ายบางกุ้ง เรียกว่า "ค่ายบางกุ้ง" โดยสร้างกำแพงล้อมและให้วัดบางกุ้งอยู่กลางค่าย เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นที่เคารพบูชาของทหาร ภายหลังเสียกรุงครั้งที่ 2  ค่ายบางกุ้งก็ร้างไปจนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรี เป็นราชธานีจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนจาก ระยอง ชลบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรีรวบ รวมผู้คนมาตั้งกองทหารรักษาค่าย จึงมีชื่อเรียกอีกหนึ่งว่า "ค่ายจีนบางกุ้ง"  ในปี พ.ศ. 2311 พระเจ้ากรุงอังวะทรงยกทัพผ่านกาญจนบุรีมาล้อมค่ายจีนบางกุ้ง สมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นแม่ทัพยกไปช่วยเหลือทหารจีนขับไล่กองทัพ พม่าทำให้ข้าศึกแตกพ่าย หลังจากนั้นค่ายบางกุ้งแห่งนี้ก็ถูกปล่อยให้รกร้างเกือบ 200 ปี





        ภายในบริเวณโบสถ์ที่สร้าง ประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปั้นขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” (หลวงพ่อนิลมณี) และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ เป็นภาพพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมและภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ในซุ้มขนาบข้างด้วยอัครสาวกนั่งพนมมือ และอีกประการหนึ่งคือ โบสถ์หลังนี้ทั้งหลังปกคลุมด้วยด้วยรากต้นไม้ถึงสี่ชนิด คือ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร ต้นกร่าง มองจากภายนอกคิดว่าเป็นกลุ่มต้นไม้ใหญ่ มากกว่ามีโบสถ์อยู่ข้างใน รากไม้เหล่านี้ช่วยให้โบสถ์คงรูปอยู่ได้ ทั้งยังให้ความขรึมขลังอีกด้วย  ชาวบ้านเลยเรียกขานกันอีกชื่อหนึ่งว่า “โบสถ์ปรกโพธิ์”และไม่ไกลจากตัวโบสถ์นักก็เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช



         นี่แหละครับมนต์เสน่ห์ของวัดบางกุ้ง วัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา แถมยังจะมี สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้อย่างอื่นอีกได้แก่ คัมภีร์โบราณ ส่วนมากจะเป็นตำรายาโบราณ และบริเวณหน้าวัดด้านที่ติดกับแม่น้ำแม่กลอง จะมีปลาน้ำจืดต่างๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนได้ชื่อว่า "วังมัจฉา" และสุดท้ายก็เป็นเรื่อง พิสดารมากความศักดิ์สิทธิ์ของศาลองค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า)  ที่เป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนอย่างไรมาบนบานในสิ่งที่ต้องการมักไม่ผิดหวัง  เป็นต้นว่าเรื่องหน้าที่การงาน การสอบเข้างาน การสอบเรียน และทางด้านโชคลาภ  มีคนได้เลขไปเสี่ยงโชคแล้วรวยมีปรากฎอยู่เสมอ  แต่อย่าบนเรื่องเกณฑ์ทหารนะใครไปบนให้ช่วยแน่นอนรับรองถูกชัวร์  เพราะท่านชอบทหารที่มีเลือดนักสู้เต็มตัวเมื่อมีชีวิตอยู่ ...

ข้อมูลการเดินทางไปวัดบางกุ้ง
       1.ทางรถยนต์ จากตัวเมืองสมุทรสงคราม ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 325 (แม่กลอง-อัมพวา) ประมาณ 5 กม. เลยวัดบางกะพ้อม (ยังไม่ถึงตลาดอัมพวา) ให้สังเกตทางแยกซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง (สะพานสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์) ตรงไปถึง ถึงสามแยกเลี้ยวขวา ตรงไปผ่านวัดภุมรินทร์ จนถึงสามแยก (มีวัดบางแคใหญ่อยู่ขวามือ) เลี้ยวขวา ตรงไปผ่านวัดบางแคน้อย วัดปากน้ำ ข้ามสะพานคลองแควอ้อมสังเกต ค่ายบางกุ้งอยู่ซ้ายมือ จะเห็นแนวกำแพงของค่าย
       2.รถประจำทาง จากตัวเมืองสมุทรสงครามนั่งรถโดยสองแถวสายแม่กลอง-วัดปราโมทย์ คิวรถอยู่บริเวณธนาคารนครหลวงไทย สาขาสมุทรสงคราม รถจะวิ่งผ่านค่าย นะครับ
ขอให้สนุกกับการเดินทาง ...
(ถ้าต้องการดูภาพของโบสถ์ปรกโพธิ์ก็ คลิ๊ก ที่นี่ได้เลยครับ)

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

หมอชีวกโกมารภัจจ์ เอตทัคคะ ในด้านเป็นที่รักของปวงชน

       ท่านทั้งหลายเคยปวดเมื่อยกันมั๊ยครับ แน่นนอนว่าต้องเคยกันทุกๆคน ในเมืองไทยเมื่อเกิดอาการเช่นนี้มักจะนึกถึง หมอนวดแผนโบราณ ที่ปัจจุบันมีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยเฉพาะที่วัดโพธิ์ ที่ๆชาวต่างประเทศข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนวิชานวดแผนโบราณกันที่นี่ และเมื่อเราไปใช้บริการนวดแผนโบราณนี้ หลายๆแห่งมักจะมี รูป ท่านปู่ชีวกและบางที่ก็จะมีรูปปู่ฤาษีตั้งไว้คู่กัน ในบทความนี้ผมขอนำประวัติ ท่านปู่ชีวกซึ่งในวงการแพทย์แผนโบราณในปัจจุบันนี้ ถือว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็น บรมครุแห่งการแพทย์แผนโบราณ เป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไป



       หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นบุตรของนางสาลวดี นครโสเภณีประจำเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ในสมัยนั้นตำแหน่งนี้มีเกียรติยศต่างจากในสมัยนี้ นางสาลวดีตั้งครรภ์โดยบังเอิญ เมื่อคลอดบุตรชายออกมาจึงสั่งให้สาวใช้นำไปทิ้ง แต่อภัยราชกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารไปพบเข้า จึงนำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ชื่อ ชีวก ตั้งขึ้นตามคำกราบทูลตอบคำถามของพระองค์ที่ตรัสถามว่า เด็กยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า มหาดเล็กกราบทูลว่า ยังมีชีวิตอยู่(ชีวโก)ส่วนคำว่า โกมารภัจจ์ แปลว่า กุมารที่ได้รับการเลี้ยงดู หรือ กุมารในราชสำนัก หมายถึง บุตรบุญธรรม นั่นเอง

       เมื่อเติบโตขึ้นชีวกถูกพวกเด็ก ๆ ในวังล้อเลียนว่า เจ้าลูกไม่มีพ่อ ด้วยความมานะ จึงหนีพระบิดาไปเรียนศิลปวิทยาที่เมืองตักสิลา เพื่อเอาชนะคำดูหมิ่นวิชาที่เลือกเรียนคือวิชาแพทย์ แต่เนื่องจากไม่มีค่าเล่าเรียน จึงอาสารับใช้พระอาจารย์ เมื่อเรียนอยู่ถึง 7 ปี จึงลาอาจารย์กลับบ้าน ระหว่างทางอาจารย์ให้ไปหาต้นไม้ที่ทำยาไม่ได้ ให้เก็บตัวอย่างมาให้ดู ปรากฏว่ากลับมามือเปล่า เพราะต้นไม้ทุกต้นใช้ทำยาได้ อาจารย์บอกว่าเขาได้เรียนจบแล้ว จึงอนุญาตให้กลับได้ หลังจากกลับเมืองมาแล้ว ได้รักษาพระเจ้าพิมพ์พิสารให้หายขาดจากภคันทลาพาธ (โรคริดสีดวงทวาร)ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอหลวง และได้รับพระราชทานสวนมะม่วง แต่ต่อมาหมอชีวกก็ได้ถวายสวนนี้ให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย และได้ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์อีกด้วย

       ด้วยความที่เป็นคนบำเพ็ญแต่สิ่งที่ดีงาม ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ไม่เลือฐานะ จึงได้รับการยกย่องากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะ ในด้าน เป็นที่รักของปวงชน

ถ้าต้องการประวัติของหมอชีวกโกมารภัจจ์เพิ่มเติมไปที่นี่ต่อนะครับ
สารานุกรม พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
http://www.dharma-gateway.com/ubasok/ubasok_hist/ubasok-cheevaka-komarapaj.htm

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์ -ห้าพี่น้องลอยน้ำ-หลวงพ่อโต

       สวัสดีเช่นเคยครับ แล้วเราก็มาถึงประวัติของหนึ่งใน พระห้าพี่น้อง(พุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์) ที่พร้อมใจกันลอยน้ำมาจากทางเหนือนั้นองค์สุดท้ายซึ่ง มีอยู่องค์เดียวที่มิได้มีพระนามตามชื่อวัด หรือตามชื่อของหมู่บ้านที่ชาวบ้านเป็นผู้พบเห็นครั้งแรก แต่พระนามของท่านนั้น ชาวบ้านขนานนามตามพุทธลักษณะของท่านที่มีองค์ใหญ่โตว่า "หลวงพ่อโต" ประดิษฐานอยู่ ณ วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ


ประวัติความเป็นมา
       หลวงพ่อโตได้ล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วลอยเข้ามาในลำคลองสำโรง ผู้พบเห็นต่างโจษจันกันไปทั่วถึงปาฏิหาริย์ในครั้งนี้ จึงพากันอาราธนาหลวงพ่อขึ้นที่ปากคลองสำโรง แต่ฉุดดึงเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ท่านไม่ยอมขึ้น มีผู้มีปัญญาดีคนหนึ่ง ได้ให้ความเห็นว่า คงเป็นเพราะบุญญาอภินิหารของท่าน แม้จะใช้จำนวนผู้คนสักเท่าไรอาราธนาฉุดท่านขึ้นบนฝั่งคงไม่สำเร็จเป็นแน่ ควรจะเสี่ยงทายต่อแพผูกชะลอกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือพายฉุดท่านให้ลอยมาตามลำน้ำสำโรง และอธิษฐานว่า "หากท่านประสงค์จะขึ้นโปรดที่ใด ก็ขอแสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้นเถิด" เมื่อประชาชนทั้งหลายได้เห็นพ้องต้องกันดังนั้นแล้วก็พร้อมใจกันทำแพผูกชะลอกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือพายช่วยกันจ้ำพายจูงแพลอยเรื่อยมาตามลำคลอง ครั้นแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม หรือ ปัจจุบันนี้คือ วัดบางพลีใหญ่ใน แพที่ผูกชะลอองค์ท่านก็เกิดหยุดนิ่ง ฝีพายพยายามจ้ำและพายกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง แพนั้นก็หาได้ขยับเขยื้อนไม่ ชาวบางพลีถึงกับขนลุกซู่เห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก ต่างก้มลงกราบนมัสการด้วยความเคารพสักการะ แล้วพร้อมใจกันอาราธนาตั้งจิตอธิษฐานว่า "ถ้าหลวงพ่อจะโปรดคุ้มครองชาวบางพลีให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว ก็ขออาราธนาอัญเชิญองค์ท่านให้ขึ้นจากน้ำได้โดยง่ายเถิด" และก็เป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก เพียงใช้คนไม่มากนัก ก็สามารถอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำได้โดยง่าย ทำให้ประชาชนต่างแซ่ซ้องในอภินิหารของท่าน และได้อาราธนาท่านขึ้นไปประดิษฐานในพระวิหาร ซึ่งต้องชะลอท่านขึ้นข้ามฝาผนังวิหาร เพราะขณะนั้นหลังคาพระวิหารยังไม่มี และประตูวิหารก็เล็กมาก ต่อจากนั้นท่านจึงได้ประดิษฐานอยู่ในวิหารนั้นเรื่อยมา ครั้นต่อมาได้รื้อวิหารนั้นเพื่อสร้างเป็นพระอุโบสถที่ถาวร จึงต้องชะลออาราธนาองค์ท่านมาพักไว้ยังศาลาชั่วคราว จนกระทั่งได้สร้างพระอุโบสถสำเร็จแล้ว จึงได้อาราธนาท่านไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ เพื่อเป็นประธานของวัดบางพลีใหญ่ใน

พุทธลักษณะ
       หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย(สะดุ้งมาร) หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1คืบ ลืมพระเนตร เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เนื้อเป็นทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์  ความที่องค์ของท่านใหญ่โตมาก เพราะหน้าตักกว้างถึง 3 ศอก 1 คืบ ชาวบ้านจึงขนานนามท่านว่า"หลวงพ่อโต"

อัศจรรย์หลวงพ่อโต
       เมื่อครั้งที่ท่านยังประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเก่าบางวันที่เป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ กลางคืนผู้คนจะได้ยินเสียงพึมพำอยู่ในวิหารคล้ายเสียงสวดมนต์ ครั้นเมื่อเข้าไปดูก็ไม่เห็นมีใครอยู่ในนั้นเลยนอกจากหลวงพ่อโต บางคราวพระภิกษุสามเณรในวัดจะเห็นพระภิกษุชราห่มจีวรสีคร่ำคร่า ถือไม้เท้าเดินออกมายืนสงบนิ่งอยู่หน้าวิหาร ผู้ที่พบเห็นต่างก็เรียกกันมาดู เมื่อทุกคนเห็นพร้อมกันดีแล้ว ภิกษุชรารูปนั้นก็เดินหายเข้าไปในวิหารตรงองค์ของหลวงพ่อ เป็นดังนี้หลายครั้งหลายหน บางครั้งจะมีผู้เห็นเป็นชายชรารูปร่างสง่างาม มีรัศมีเปล่งปลั่ง นุ่งขาวห่มขาวเข้ามาหาหลวงพ่อแล้วก็หายไปตรงพระพักตร์ของท่าน

แสดงปาฏิหาริย์!!
       เมื่อสร้างพระอุโบสถเสร็จใหม่ๆ ก่อนจะอาราธนาหลวงพ่อเข้าไปประดิษฐานภายในพระอุโบสถ ได้วัดองค์ท่านกับช่องประตูพระอุโบสถ ช่องประตูใหญ่กว่าองค์ท่านประมาณ 5 นิ้ว ซึ่งสามารถนำท่านชะลอผ่านประตูเข้าไปได้สบายมาก ครั้นเวลาอาราธนาหลวงพ่อเข้าสู่พระอุโบสถจริงๆ กลับปรากฏว่า องค์หลวงพ่อใหญ่กว่าช่องประตูมาก จะทำอย่างไรก็ไม่สามารถนำท่านผ่านประตูเข้าไปได้ คณะกรรมการและประชาชนทั้งหลายเห็นเช่นนั้นก็พากันตกใจ ให้ความเห็นว่าต้องทุบช่องประตูออกเสียให้กว้าง เมื่อนำหลวงพ่อเข้าไปแล้วค่อยทำประตูกันใหม่ แต่บางท่านให้ความเห็นว่าหลวงพ่อโตคงจะแสดงอภินิหารให้ทุกคนได้เห็นเป็นอัศจรรย์ก็ได้ ดังนั้นจึงพร้อมใจกันจุดธูปเทียนบูชาอธิษฐานขอให้หลวงพ่อผ่านเข้าประตูพระอุโบสถได้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญคุ้มครองชาวบางพลีสืบต่อไป เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้ว ก็อาราธนาหลวงพ่อเข้าสู่ประตูพระอุโบสถใหม่ คราวนี้ทุกคนก็ต้องแปลกใจที่องค์หลวงพ่อผ่านเข้าประตูพระอุโบสถได้อย่างง่ายดาย โดยมีช่องว่างระหว่างองค์หลวงพ่อกับประตูพระอุโบสถเสียอีก นับว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ในอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อโตยิ่งนัก เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2520 หลวงพ่อได้กระทำให้เกิดปาฏิหาริย์ที่องค์ท่านซึ่งเป็นทองสัมฤทธิ์ เกิดนุ่มนิ่มไปหมดทั้งองค์ดังเนื้อมนุษย์ และในปี 2522 ก็เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้อีกครั้งหนึ่ง

บนบานศาลกล่าว
       ผู้คนที่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจต่างๆนานา มักจะมากราบไหว้บนบานศาลกล่าวอธิษฐานขอให้หลวงพ่อโตช่วยให้สมปรารถนา เมื่อสำเร็จผลแล้ว มักจะนำใบลานที่สานเป็นปลาตะเพียนเงินปลาตะเพียนทองมาถวายเป็นการแก้บน สาเหตุที่ใช้ปลาตะเพียนนั้น เพราะเชื่อกันว่าเป็นปลาคู่บารมีของหลวงพ่อ มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตที่ข้างวิหารมีสระน้ำย่อมๆอยู่สระหนึ่ง บางคราวจะมีปลาเงินปลาทอง หรือปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทองขนาดใหญ่ 2 ตัว ปรากฏให้เห็นลอยเล่นน้ำอยู่คู่กันในสระ ซึ่งในสระนั้นไม่เคยมีปลาตะเพียนเงินตะเพียนทองมาก่อนเลย!! ส่วนเรื่องที่ห้ามบนบานเด็ดขาดก็คือ การขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร เช่นเดียวกับหลวงพ่อโสธร หลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อ(ทอง)วัดเขาตะเครา เพราะผู้ที่บนในเรื่องดังกล่าว จะต้องถูกเกณฑ์ทหารทุกราย

งานนมัสการหลวงพ่อโต
ทางวัดได้จัดให้มีงานสมโภชปีละ 3 ครั้ง คือ
- งานปิดทองฝ่าพระพุทธบาทและนมัสการหลวงพ่อโต ระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ ถึง วันแรม 2 ค่ำ เดือน 3
- งานนมัสการและปิดทองหลวงพ่อโต ระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ ถึง วันแรม 2 ค่ำ เดือน 4
- งานประเพณีรับบัวและนมัสการหลวงพ่อโต ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 มีการจัดขบวนเรือแห่แหนหลวงพ่อโต(จำลอง)ไปตามลำคลองสำโรง เพื่อรับดอกบัวที่ผู้คนถวายเป็นพุทธบูชา
นอกจากนี้ในวันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปีจะมีงานทำบุญฉลองที่หลวงพ่อโตแสดงปาฏิหาริย์ให้องค์หลวงพ่อนิ่มเหมือนเนื้อของมนุษย์

       หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไปและชาวบางพลี รวมทั้งเป็นมิ่งขวัญของวัดบางพลีใหญ่ใน มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์ -ห้าพี่น้องลอยน้ำ-หลวงพ่อทอง

       สวัสดีครับ ผ่านมาแล้ว 3 องค์ สำหรับ พระห้าพี่น้องลอยน้ำ ในบทความความนี้ขอกล่าวถึง ประวัติของพระองค์ที่ 4 ที่เป็น พระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยองค์เล็กขนาดหน้าตักกว้างเพียง 21 นิ้ว ซึ่งลอยน้ำมาจากทางเหนือ (พร้อมพระพี่น้องอีก 4 องค์)ได้ขึ้นประดิษฐานอยู่ ณ วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นพระพุทธรูปองค์เดียวในจำนวน 5 องค์พี่น้อง ที่มีแผ่นทองคำเปลวปิดหุ้มอยู่หนามากจนแลไม่เห็นความงามตามพุทธลักษณะเดิม


ประวัติความเป็นมา
       ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในประวัติของหลวงพ่อบ้านแหลม(ธรรมลีลา ฉ.9 ส.ค.44) ว่า ชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรี ได้พากันมาจับปลาในทะเล ขณะที่ลากอวนอยู่นั้นได้ลากพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยติดอวนขึ้นมาองค์หนึ่ง ในระหว่างทางกลับ ก็ได้พบพระพุทธรูปยืน(หลวงพ่อบ้านแหลม) ลอยปริ่มๆน้ำอยู่ไม่ไกลนัก จึงอาราธนาขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่ง แต่เกิดอาเพทฝนตกหนัก ลมพายุพัดจัด เรือลำที่พระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่นั้น ทนคลื่นลมไม่ไหว จึงเอียงวูบไป พระพุทธรูปที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายไปในแม่น้ำ ชาวบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ต่างช่วยกันดำน้ำค้นหาอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่พบ จึงตกลงว่าไม่ค้นหากันต่อไปอีก จึงนำพระพุทธรูปองค์นั่งที่เหลืออยู่บนเรืออีกลำหนึ่งไปยังถิ่นของตน และนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่พ.ศ.2302 เป็นต้นมา และเรียกขานกันว่าหลวงพ่อเขาตะเครา หลวงพ่อเขาตะเครา ได้รับการเรียกขานนามใหม่คือ "หลวงพ่อ(ทอง)เขาตะเครา" สาเหตุมาจากมีช่างภาพคนหนึ่งต้องการถ่ายภาพหลวงพ่อ แต่ความที่องค์หลวงพ่อมีทองปิดทับอยู่หนามากจนแลไม่เห็นพุทธลักษณะเดิม ช่างภาพคนนี้จึงไปแกะทองที่ตาหลวงพ่อออกโดยมิได้บอกล่าวและขออนุญาต หลังจากนั้นไม่กี่วันช่างภาพคนนี้ก็มีอาการหูตาบวมเป่ง จึงต้องมากราบขอขมาหลวงพ่อ อาการจึงหายไป
จากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงไม่มีใครกล้าไปแตะต้องหลวงพ่อ จนกระทั่งทองปิดองค์ท่านทับถมกันมากขึ้นทุกวันๆ ชาวบ้านที่มานมัสการจึงเติมคำว่า"ทอง" ไปในการเรียกขาน จึงกลายมาเป็นหลวงพ่อ(ทอง)เขาตะเครา

พุทธลักษณะ
       หลวงพ่อ(ทอง)เขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว แต่เนื่องจากทองที่ปิดองค์พระพุทธรูปนั้นหนามาก จนทำให้ไม่เห็นองค์เดิมว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อหรือปูนปั้น แต่จากหลักฐานที่"สุนทรภู่" กวีเอกของไทย ได้เขียนไว้ในนิราศเมืองเพชร คราวที่ได้ไปแวะไหว้หลวงพ่อ(ทอง)วัดเขาตะเครา ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า หลวงพ่อฯเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ดังความว่า
                    "ไปครู่หนึ่งถึงเขาตะคริวสวาท
                    มีอาวาสวัดวามหาเถร
                    มะพร้าวรอบขอบที่บริเวณ
                    พอจวนเพลพักร้อนผ่อนสำราญ
                    กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้
                    จะขึ้นไหว้พระสัมฤทธิ์อธิษฐาน
                    เขานับถือลืออยู่แต่บูราณ
                    ใครบนบานพระรับช่วยดับร้อน"

ความศักดิ์สิทธิ์
      ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อนั้น เป็นที่โจษขานกันมาแต่โบราณ แม้กระทั่งตอนที่หลวงพ่อจะประทานทองที่องค์ท่านให้นั้น มีผู้เล่าว่า ได้เห็นไฟลุกท่วมองค์ท่านเป็นประกายรัศมีออกมา ทองที่หุ้มองค์ท่านค่อยๆไหลหลุดลอกออกบางส่วน ดูน่าอัศจรรย์ และเมื่อนำทองที่ไหลลอกมาไปชั่งน้ำหนัก ปรากฎว่าได้ถึง 9.9 กิโลกรัม! ทำให้ได้แลเห็นพระพักตร์ชัดเจนขึ้นมาบ้าง ซึ่งก่อนหน้านั้นมีทองปิดหนามากจนองค์ท่านกลมทีเดียว! นอกจากนั้นยังมีผู้เล่าว่า มีหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวบ้านแหลม ทำไร่ทำนาจนหมดเนื้อหมดตัว จึงคิดจะไปทำมาค้าขายทางใต้ ได้มาไหว้หลวงพ่ออธิษฐานขอให้ช่วยค้าขายร่ำรวยแล้วจะกลับมาบวชชีแก้บน 15 วัน ปรากฏว่าหญิงคนนั้นค้าขายจนร่ำรวย แต่มิได้กลับมาแก้บนตามที่อธิษฐานไว้ ทำให้มีอาการป่วยหนัก จนกระทั่งผลสุดท้ายต้องกลับมาบวชชีที่วัดเขาตะเครา จึงหายป่วย อีกเรื่องหนึ่งคือมีเรือประมงลำหนึ่งถูกมรสุมอัปปางลง ลูกเรือ 11 คนเสียชีวิต รอดมาเพียง 2 คน เพราะมีพระกริ่งและแหวนจำลองของหลวงพ่อฯ ทั้งสองคนนี้จึงบนตัวบวชให้หลวงพ่อตั้งแต่นั้นมา และมีอยู่ครั้งหนึ่งขบวนทอดผ้าป่ามาทำบุญที่วัดเขาตะเครา ตอนกลับจากวัดเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำกลางทาง คนโดยสารทั้ง70กว่าคนเพียงแค่ฟกช้ำดำเขียวเท่านั้น และมีอยู่คนหนึ่งที่เช่าพระพุทธรูปจำลองหลวงพ่อฯแล้วอุ้มองค์ท่านอยู่ คนนี้ไม่ได้รับอันตรายใดๆแม้แต่นิดเดียว!

บนบานศาลกล่าว
       การบนบานศาลกล่าวเพื่อขอพรหลวงพ่อให้ช่วยดลบันดาลในเรื่องราวต่างๆนั้นมักจะสมปรารถนาเสมอ สุนทรภู่เองก็ทราบกิตติศัพท์นี้จึงได้อธิษฐานขอพรจากหลวงพ่อ ดังนี้
                    "ได้สรงน้ำชำระพระสัมฤทธิ์
                    ถวายธูปเทียนอุทิศพิษฐาน
                    ขอเดชะพระสัมฤทธิ์พิสดาร
                    ท่านเชี่ยวชาญเชิญช่วยด้วยสักครั้ง"
สิ่งที่ห้ามบนก็คือ ขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร เช่นเดียวกับหลวงพ่อโสธรและหลวงพ่อบ้านแหลมนั่นเอง เพราะถ้าบนอย่างนี้ จะต้องเป็นทหารทุกราย! ส่วนการแก้บนนั้น สิ่งของที่นิยมนำมาแก้บนที่ทำกันต่อๆมานั้น ถ้าดูในสมัยก่อนจากคำอธิษฐานดังกล่าวของสุนทรภู่ ว่าถ้าสมหวังในเรื่องที่ขอไว้ สุนทรภู่จะถวายละคร พร้อมทั้งเทียนเงินทองและของเสวยตามที่มีผู้กระทำกันมา
                    "แม้นได้ของสองสิ่งเห็นจริงจัง
                    จะแต่งตั้งบายศรีมีละคร
                    ทั้งเทียนเงินเทียนทองของเสวย
                    เหมือนเขาเคยบูชาหน้าสิงขร"
จากคำบอกเล่าของผู้คนที่วัดเขาตะเคราบอกว่า การแก้บนก็แล้วแต่สิ่งของที่บนไว้ ซึ่งก็มีทั้งละคร ข่าวปลาอาหาร ประทัด เป็นต้น แต่หากต้องการให้ได้ผลสมปรารถนาเร็ว ต้องบนตัวบวช ไม่ว่าจะเป็นบวชพระ บวชเณร บวชชี บวชชีพราหมณ์ บวชเนกขัมมะ ผู้ที่บนตัวบวชนี้จะได้ผลสมหวังทุกราย

       ทุกวันนี้หลวงพ่อ(ทอง)เขาตะเครายังคงเป็นที่พึ่งทางใจให้กับชาวเมืองเพชรและผู้คนมากมายที่เดินทางมากราบไหว้หรือแม้แต่ระลึกถึงท่านอยู่เสมอๆ

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

พุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์ -ห้าพี่น้องลอยน้ำ-หลวงพ่อไร่ขิง

ประวัติความเป็นมา
       พ่อวัดไร่ขิงนั้น มีตำนานเรื่องหนึ่งที่เล่าสืบกันมา พอเป็นเค้า แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดนักว่า ในสมัยที่สมเด็จพระพุฒาจารย์(พุก) ดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมราชานุวัตร ในปี 2394 นั้น ท่านได้รับโปรดเกล้าฯให้ขึ้นไปครองวัดศาลาปูนวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าคณะใหญ่กรุงเก่า วันหนึ่งท่านได้ลงไปที่วัดไร่ขิง เมื่อท่านเข้าไปในพระอุโบสถกราบพระประธานแล้ว ท่านก็ได้สนทนากับเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงว่า โบสถ์ใหญ่โต แต่พระประธานเล็กไปหน่อย เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงกราบเรียนท่านว่า วัดไร่ขิงเป็นวัดจนๆ ไม่สามารถสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆได้ เมื่อทราบดังนั้นท่านจึงบอกว่าที่วัดของท่านมีอยู่องค์หนึ่งให้เจ้าอาวาสไปอัญเชิญมาได้ เมื่อสมเด็จฯกลับไปแล้วไม่นาน เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงพร้อมทั้งกรรมการวัดได้เดินทางไปยังวัดศาลาปูน และอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวลงแพที่ใช้ไม้ไผ่มัดล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำนครชัยศรี จนกระทั่งถึงวัดไร่ขิง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถแทนองค์เดิมตั้งแต่นั้นมา และขนานนามพระพุทธรูปองค์ใหม่นี้ตามนามของวัดว่า'หลวงพ่อไร่ขิง' เหตุอัศจรรย์ ในวันที่ชาวบ้านทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพไม้ไผ่ ตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์พอดี จึงมีชาวบ้านมาร่วมเป็นจำนวนมาก ขณะที่กำลังอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพสู่ปะรำพิธีนั้น ได้เกิดเหตุการณ์เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เพราะแสงแดดที่แผดจ้าพลันหายไป บังเกิดเป็นเมฆดำทะมึน ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนองกึกก้อง ฝนโปรยปรายลงมา ยังความฉ่ำเย็นกันทั่วหน้า ทุกคนในที่นั้นเกิดความปีติโสมนัส ยิ่งนัก พากันอธิษฐานเป็นเสียเดียวกันว่า"หลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร ฉะนั้น" และนับตั้งแต่ที่หลวงพ่อมาประดิษฐานที่วัดไร่ขิง ก็มีประชาชนพากันมาเคารพสักการะมิได้ขาด โดยเฉพาะวันหยุดและวันนักขัตฤกษ์ อุโบสถของหลวงพ่อจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศ ที่ได้ยินได้ฟังและได้ประสบในความศักดิ์สิทธิ์

vinayak-vanich.blogspot.com

พุทธลักษณะ
       หลวงพ่อวัดไร่ขิงเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ประทับนั่งปางมารวิชัยแบบประยุกต์ พระรูปมีลักษณะผึ่งผายคล้ายเชียงแสน พระหัตถ์เรียวงามตามแบบสุโขทัย แต่เฉพาะพระพักตร์ดูคล้ายรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานเหนือฐานชุกชี มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ

ความศักดิ์สิทธิ์
       เรื่องราวเกี่ยวกับอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง มีผู้คนเล่าไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางด้านแคล้วคลาด ทางด้านเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ เช่น เรื่องของหญิงวัยกลางคนซึ่งถูกฟ้าผ่ากลางท้องนา แต่ไม่ตาย ทั้งๆที่หมอที่รับรักษาบอกว่าถ้าโดนอย่างนี้ไม่เคยมีรอดสักรายเดียว ทั้งนี้เพราะห้อยเหรียญรูปหลวงพ่อนั่นเอง หรือเรื่องของสุภาพสตรีท่านหนึ่งอยู่ที่อเมริกา มีอาการชาที่ริมฝีปาก รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย ญาติพี่น้องทางเมืองไทย ซึ่งนับถือหลวงพ่อวัดไร่ขิง จึงได้ส่งพระรูปจำลององค์เล็กๆไปให้ บอกว่าให้อธิษฐานจิตขอให้หลวงพ่อ ช่วย สุภาพสตรีท่านนี้ก็ทำตาม คืนหนึ่งเธอฝันเห็นหลวงพ่อ คิดว่าท่านได้มาช่วยแล้ว ในที่สุดก็หายจากโรคดังกล่าว และได้ส่งเงินมาถวายร่วมสร้างโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง)เป็นจำนวนมาก และยังมีเรื่องของชายคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากโจรปล้นรถ เพราะขณะที่กำลังอยู่ในนาทีวิกฤตนั้นเขานึกถึงหลวงพ่อวัดไร่ขิง อธิษฐานว่าหากรอดตายจะบวชถวายหลวงพ่อหนึ่งพรรษา แล้วเขาก็รอดตายจริงๆ สุดท้ายก็มาบวชถวายที่วัดไร่ขิง ตามที่ได้บนบานไว้ ส่วนเรื่องน้ำมนต์ของหลวงพ่อฯ เป็นที่น่าเชื่อถือมานานแล้วว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บปวดหัวตัวร้อนได้ชงัดนัก แม้แต่วัวควายเป็นไข้ก็รักษาให้หายได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ที่มากราบหลวงพ่อ นิยมนำน้ำมนต์กลับบ้านทุกราย เดิมที่วัดจัดเป็นถุงพลาสติกใบเล็กๆให้ใส่ แต่เมื่อมีผู้คนต้องการมากขึ้น และการใส่ถุงพลาสติกก็อาจแตกกลางทางได้ ้ทางวัดจึงบรรจุน้ำมนต์ใส่ในขวดพลาสติก เพื่ออำนวยสะดวกแก่ผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งจะหลั่งไหลมากราบไหว้หลวงพ่อเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

บนบานศาลกล่าว
       ทุกวันจะมีประชาชนจากทั่วสารทิศมากราบไหว้หลวงพ่อ บนบานขอพรให้ท่านช่วย โดยเฉพาะในวันเสาร์ อาทิตย์ ซึ่งผู้คนมากันอย่างล้นหลาม เสียงประทัดจะดังกึกก้องไปทั่วบริเวณพระอุโบสถ อย่างต่อเนื่องยาวนานในแต่ละวัน ซึ่งบอกให้รู้ว่า คนที่ได้รับพรจากหลวงพ่อแล้วสมปรารถนานั้น พากันมาแก้บนนั่นเอง และนอกจากประทัดแล้ว สิ่งที่ผู้คนบอกต่อๆมาว่าเป็นของโปรดของหลวงพ่ออีกอย่างหนึ่งก็คือ ว่าว และเมื่อแก้บนขอพรเสร็จแล้ว ก่อนกลับทุกรายจะไปรับน้ำมนต์ ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่ง แต่เรื่องที่ห้ามบนบานศาลกล่าวก็คือเรื่องขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร เหมือนกับพระพี่น้องที่ลอยน้ำมานั่นเอง

งานนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิง
       ทางวัดได้จัดให้มีงานนมัสการหลวงพ่อปีละ 3 ครั้ง คือ
- ในเทศกาลวันออกพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งทางวัดได้จัดงานตักบาตรเทโว และฟังเทศน์ จึงถือเป็นโอกาสให้มีการปิดทองนมัสการหลวงพ่อด้วย
- ในเทศกาลตรุษจีน เพื่อให้ชาวจีนที่เคารพบูชาหลวงพ่อ ได้มีโอกาสกราบไหว้ปิดทองถวายเป็นพุทธบูชา
- ในงานเทศกาลนมัสการปิดทองรูปหลวงพ่อ ประจำปี ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 จนถึง แรม 3 ค่ำ เดือน 5
งานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงทุกงาน จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนจากใกล้ไกลที่มีจิตศรัทธาอย่างแรงกล้าเพื่อมากราบไหว้องค์หลวงพ่ออย่างแท้จริง เพราะทุกคนเชื่อว่า หลวงพ่อไม่ได้เป็นแค่พระอิฐพระปูนธรรมดาๆเท่านั้น
(ตำนาน พุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์ -ห้าพี่น้องลอยน้ำ)

วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

พุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์-ห้าพี่น้องลอยน้ำ-หลวงพ่อบ้านแหลม

       พุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์  พระพุทธรูป 5 องค์ที่ลอยน้ำมาด้วยกันจากทางเหนือนั้น มีเพียงองค์เดียวที่ป็นพระพุทธรูปยืน คือองค์ที่ลอยไปตามแม่น้ำแม่กลอง แล้วขึ้นสถิตอยู่ที่วัดบ้านแหลม อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ก็คือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าหลวงพ่อบ้านแหลมนั่นเอง

ประวัติความเป็นมา สำหรับหลวงพ่อบ้านแหลม มีตำนานอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรี ได้พากันมาจับปลาในทะเล ขณะที่ลากอวนอยู่นั้นได้ลากพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยติดอวนขึ้นมาองค์หนึ่ง ทุกคนต่างดีใจมาก จึงอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นบนเรือ แล้วพากันล่องกลับเข้าฝั่ง แต่ระหว่างทางคนในเรือได้แลเห็นพระเกศของพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งลอยปริ่มๆน้ำอยู่ไม่ไกลนัก จึงร้องบอกให้ทุกคนทราบ แล้วเทียบเรือเข้าไป จึงได้พบพระพุทธรูปยืน ทุกคนต่างอัศจรรย์ใจเป็นที่สุดที่พระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองแต่ลอยอยู่ในน้ำได้ จึงพากันกราบนมัสการด้วยความเลื่อมใสในอภินิหารและอิทธิฤทธิ์ที่ได้พบเห็น แล้วอาราธนาขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่ง



       พอเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลองตอนหน้าวัดศรีจำปา ได้เกิดอาเพทคล้ายกับว่า พระพุทธรูปยืนท่านประสงค์ที่จะอยู่วัดนี้ จึงทำให้ฝนตกหนัก ลมพายุพัดจัด จนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น เรือลำที่พระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่นั้น ทนคลื่นลมไม่ไหว จึงเอียงวูบไป พระพุทธรูปที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายไปในแม่น้ำ ชาวบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ต่างช่วยกันดำน้ำค้นหาอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่พบ จึงตกลงว่าไม่ค้นหากันต่อไปอีก จึงนำพระพุทธรูปองค์นั่งองค์ที่เหลืออยู่ไปยังถิ่นของตนและนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี กาลต่อมาชาวบ้านศรีจำปาต่างช่วยกันลงดำน้ำค้นหาพระพุทธรูปที่จมอยู่นั้น และอาจเป็นด้วยเพราะอภินิหารของหลวงพ่อที่จะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านศรีจำปา จึงทำให้ชาวบ้านศรีจำปาดำน้ำจนพบและอาราธนาไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา ครั้นชาวประมงบ้านแหลมครั้นรู้ข่าวว่าชาวบ้านศรีจำปาพบพระพุทธรูปของตนที่จมน้ำ จึงยกขบวนกันมาทวงพระคืน แต่ชาวบ้านศรีจำปาไม่ยอมให้ จนเกือบจะเกิดศึกกลางวัดขึ้น แต่ด้วยอภินิหารของหลวงพ่อและการมีเหตุผลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ก็สามารถประสานสามัคคีตกลงปรองดองกันได้ ฝ่ายชาวประมงบ้านแหลมจึงยินยอมยกพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรให้ชาวบ้านศรีจำปาไป แต่มีข้อแม้ว่าต้องเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ เป็น"วัดบ้านแหลม" เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ชาวบ้านแหลมได้พระพุทธรูปมาแต่แรก ตั้งแต่นั้นมาวัดศรีจำปา จึงได้นามว่า วัดบ้านแหลมมาจนทุกวันนี้ และขนานนามพระพุทธรูปยืนว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม" ต่อมาวัดบ้านแหลมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชั้นวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามว่า วัดเพชรสมุทวรวิหาร


พุทธลักษณะ
หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร หล่อด้วยทองเหลืองแบบสมัยสุโขทัยตอนปลาย ภายในโปร่ง ส่วนสูงประมาณ 170 เซนติเมตร (บ้างว่าสูงประมาณ 2 เมตร 80 เซนติเมตร) แต่บาตรเดิมนั้นได้สูญหายไปในทะเลก่อนที่ชาวประมงจะได้จากทะเลปากอ่าวแม่กลอง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้เสด็จมานมัสการและได้ถวายบาตรแก้วสีเงินแก่หลวงพ่อบ้านแหลมดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

ความศักดิ์สิทธิ์
ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ้านแหลมนั้นเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ไม่ว่าเป็นทางก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง ทางแคล้วคลาด ทางรักษาโรค และเรื่องอื่นๆอีกมาก แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงทราบ อีกทั้งสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ก็ทรงเลื่อมใส ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา ของรัชกาลที่ 6 ที่พระราชทานมายังพระครูมหาสิทธิการ(แดง) ความว่า "ปีกลายนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จไปยังเมืองสมุทรสงคราม ในกระบวนหลวง ได้รับสั่งให้คนนำเครื่องสักการะไปถวายหลวงพ่อบ้านแหลม และได้รับสั่งไว้แต่ครั้งนั้นว่า ขอผลอานิสงส์ความทรงเลื่อมใส จงบันดาลให้หายประชววร ครั้นเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯได้ไม่นานก็หายประชวร จึงทรงระลึกถึงที่ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานไว้สมพระประสงค์ โปรดพระราชทานปัจจัยเป็นมูลค่า 800 บาท มาเพื่อช่วยในการปฏิสังขรณ์วัดบ้านแหลม ข้าพเจ้าได้ส่งมาให้ท่านพระครูทางกระทรวงธรรมการแล้ว" อีกประสบการณ์หนึ่งจากผู้ที่รอดชีวิตเพราะบุญญาบารมีของหลวงพ่อคุ้มครอง คือ นายชิต เข้มขัน อดีตนายด่านศุลการกร สมุทรสงคราม ได้ประกอบอาชีพเป็นกัปตันเรือเดินทะเลระหว่างกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ คราวหนึ่งเรือถูกพายุอัปปางลง เขาต้องลอยอยู่ในทะเลหลายชั่วโมง จวนหมดกำลังจมน้ำอยู่แล้ว ก็นึกถึงหลวงพ่อบ้านแหลมขึ้นมาได้ จึงขอให้หลวงพ่อช่วย ขณะนั้นเรือที่เดินอยู่ในทะเลได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วยจึงหันหัวเรือตามหา แต่เดือนมืดมองไม่เห็น เรือแล่นวนเวียนอยู่สักครู่ก็จะหันหัวเรือกลับ แต่ก็ได้ยินเสียงคนร้องเรียกให้ช่วยอยู่เรื่อย จึงค้นหาอีกจนพบนายชิตลอยคออยู่จวนจะจมน้ำ เมื่อเอาตัวขึ้นมาบนเรือนั้นนายชิตสลบไม่ได้สติ ต้องแก้ไขอยู่นาน พอฟื้นจึงพากันซักถามว่าตะโกนให้ช่วยหรือเปล่า นายชิตบอกว่าไม่ได้เรียกให้ช่วย เป็นแต่คำนึงถึงหลวงพ่ออยู่ในใจ ขอให้หลวงพ่อช่วย เท่านั้นเอง

บนบานศาลกล่าว
เรื่องการบนบานขอให้หลวงพ่อบ้านแหลมช่วยเหลือนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันมาว่า ท่านช่วยทุกเรื่องที่คนเข้ามาขอความเมตตา ยกเว้นเรื่องทหาร หากมาขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร คนนั้นเป็นต้องถูกเกณฑ์อย่างแน่นอน เพราะกล่าวกันว่าท่านชอบทหารนั่นเอง และเมื่อสิ่งที่บนบานไว้ได้ดังประสงค์ มักจะนิยมแก้บนกันด้วยพวงมาลัยเป็นส่วนใหญ่ จะมีประทัดบ้างก็ประปราย

ที่พึ่งของชาวประมง
ทุกวันนี้ก่อนออกเรือหาปลา ชาวประมง สมุทรสงคราม จะกราบไหว้และขอพรหลวงพ่อบ้านแหลมให้คุ้มครองพวกตนพ้นจากภยันตราย และกลับมาโดยสวัสดิภาพ และได้ปฏิบัติเช่นนี้ต่อๆกันมาตราบจนทุกวันนี้

บทความหน้าโปรดติดตามเรื่องราวของ"หลวงพ่อวัดไร่ขิง" จังหวัดนครปฐม นะครับ