วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

พุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์ -ห้าพี่น้องลอยน้ำ-หลวงพ่อไร่ขิง

ประวัติความเป็นมา
       พ่อวัดไร่ขิงนั้น มีตำนานเรื่องหนึ่งที่เล่าสืบกันมา พอเป็นเค้า แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดนักว่า ในสมัยที่สมเด็จพระพุฒาจารย์(พุก) ดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมราชานุวัตร ในปี 2394 นั้น ท่านได้รับโปรดเกล้าฯให้ขึ้นไปครองวัดศาลาปูนวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าคณะใหญ่กรุงเก่า วันหนึ่งท่านได้ลงไปที่วัดไร่ขิง เมื่อท่านเข้าไปในพระอุโบสถกราบพระประธานแล้ว ท่านก็ได้สนทนากับเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงว่า โบสถ์ใหญ่โต แต่พระประธานเล็กไปหน่อย เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงกราบเรียนท่านว่า วัดไร่ขิงเป็นวัดจนๆ ไม่สามารถสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆได้ เมื่อทราบดังนั้นท่านจึงบอกว่าที่วัดของท่านมีอยู่องค์หนึ่งให้เจ้าอาวาสไปอัญเชิญมาได้ เมื่อสมเด็จฯกลับไปแล้วไม่นาน เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงพร้อมทั้งกรรมการวัดได้เดินทางไปยังวัดศาลาปูน และอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวลงแพที่ใช้ไม้ไผ่มัดล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำนครชัยศรี จนกระทั่งถึงวัดไร่ขิง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถแทนองค์เดิมตั้งแต่นั้นมา และขนานนามพระพุทธรูปองค์ใหม่นี้ตามนามของวัดว่า'หลวงพ่อไร่ขิง' เหตุอัศจรรย์ ในวันที่ชาวบ้านทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพไม้ไผ่ ตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์พอดี จึงมีชาวบ้านมาร่วมเป็นจำนวนมาก ขณะที่กำลังอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพสู่ปะรำพิธีนั้น ได้เกิดเหตุการณ์เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เพราะแสงแดดที่แผดจ้าพลันหายไป บังเกิดเป็นเมฆดำทะมึน ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนองกึกก้อง ฝนโปรยปรายลงมา ยังความฉ่ำเย็นกันทั่วหน้า ทุกคนในที่นั้นเกิดความปีติโสมนัส ยิ่งนัก พากันอธิษฐานเป็นเสียเดียวกันว่า"หลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร ฉะนั้น" และนับตั้งแต่ที่หลวงพ่อมาประดิษฐานที่วัดไร่ขิง ก็มีประชาชนพากันมาเคารพสักการะมิได้ขาด โดยเฉพาะวันหยุดและวันนักขัตฤกษ์ อุโบสถของหลวงพ่อจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศ ที่ได้ยินได้ฟังและได้ประสบในความศักดิ์สิทธิ์

vinayak-vanich.blogspot.com

พุทธลักษณะ
       หลวงพ่อวัดไร่ขิงเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ประทับนั่งปางมารวิชัยแบบประยุกต์ พระรูปมีลักษณะผึ่งผายคล้ายเชียงแสน พระหัตถ์เรียวงามตามแบบสุโขทัย แต่เฉพาะพระพักตร์ดูคล้ายรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานเหนือฐานชุกชี มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ

ความศักดิ์สิทธิ์
       เรื่องราวเกี่ยวกับอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง มีผู้คนเล่าไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางด้านแคล้วคลาด ทางด้านเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ เช่น เรื่องของหญิงวัยกลางคนซึ่งถูกฟ้าผ่ากลางท้องนา แต่ไม่ตาย ทั้งๆที่หมอที่รับรักษาบอกว่าถ้าโดนอย่างนี้ไม่เคยมีรอดสักรายเดียว ทั้งนี้เพราะห้อยเหรียญรูปหลวงพ่อนั่นเอง หรือเรื่องของสุภาพสตรีท่านหนึ่งอยู่ที่อเมริกา มีอาการชาที่ริมฝีปาก รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย ญาติพี่น้องทางเมืองไทย ซึ่งนับถือหลวงพ่อวัดไร่ขิง จึงได้ส่งพระรูปจำลององค์เล็กๆไปให้ บอกว่าให้อธิษฐานจิตขอให้หลวงพ่อ ช่วย สุภาพสตรีท่านนี้ก็ทำตาม คืนหนึ่งเธอฝันเห็นหลวงพ่อ คิดว่าท่านได้มาช่วยแล้ว ในที่สุดก็หายจากโรคดังกล่าว และได้ส่งเงินมาถวายร่วมสร้างโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง)เป็นจำนวนมาก และยังมีเรื่องของชายคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากโจรปล้นรถ เพราะขณะที่กำลังอยู่ในนาทีวิกฤตนั้นเขานึกถึงหลวงพ่อวัดไร่ขิง อธิษฐานว่าหากรอดตายจะบวชถวายหลวงพ่อหนึ่งพรรษา แล้วเขาก็รอดตายจริงๆ สุดท้ายก็มาบวชถวายที่วัดไร่ขิง ตามที่ได้บนบานไว้ ส่วนเรื่องน้ำมนต์ของหลวงพ่อฯ เป็นที่น่าเชื่อถือมานานแล้วว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บปวดหัวตัวร้อนได้ชงัดนัก แม้แต่วัวควายเป็นไข้ก็รักษาให้หายได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ที่มากราบหลวงพ่อ นิยมนำน้ำมนต์กลับบ้านทุกราย เดิมที่วัดจัดเป็นถุงพลาสติกใบเล็กๆให้ใส่ แต่เมื่อมีผู้คนต้องการมากขึ้น และการใส่ถุงพลาสติกก็อาจแตกกลางทางได้ ้ทางวัดจึงบรรจุน้ำมนต์ใส่ในขวดพลาสติก เพื่ออำนวยสะดวกแก่ผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งจะหลั่งไหลมากราบไหว้หลวงพ่อเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

บนบานศาลกล่าว
       ทุกวันจะมีประชาชนจากทั่วสารทิศมากราบไหว้หลวงพ่อ บนบานขอพรให้ท่านช่วย โดยเฉพาะในวันเสาร์ อาทิตย์ ซึ่งผู้คนมากันอย่างล้นหลาม เสียงประทัดจะดังกึกก้องไปทั่วบริเวณพระอุโบสถ อย่างต่อเนื่องยาวนานในแต่ละวัน ซึ่งบอกให้รู้ว่า คนที่ได้รับพรจากหลวงพ่อแล้วสมปรารถนานั้น พากันมาแก้บนนั่นเอง และนอกจากประทัดแล้ว สิ่งที่ผู้คนบอกต่อๆมาว่าเป็นของโปรดของหลวงพ่ออีกอย่างหนึ่งก็คือ ว่าว และเมื่อแก้บนขอพรเสร็จแล้ว ก่อนกลับทุกรายจะไปรับน้ำมนต์ ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่ง แต่เรื่องที่ห้ามบนบานศาลกล่าวก็คือเรื่องขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร เหมือนกับพระพี่น้องที่ลอยน้ำมานั่นเอง

งานนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิง
       ทางวัดได้จัดให้มีงานนมัสการหลวงพ่อปีละ 3 ครั้ง คือ
- ในเทศกาลวันออกพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งทางวัดได้จัดงานตักบาตรเทโว และฟังเทศน์ จึงถือเป็นโอกาสให้มีการปิดทองนมัสการหลวงพ่อด้วย
- ในเทศกาลตรุษจีน เพื่อให้ชาวจีนที่เคารพบูชาหลวงพ่อ ได้มีโอกาสกราบไหว้ปิดทองถวายเป็นพุทธบูชา
- ในงานเทศกาลนมัสการปิดทองรูปหลวงพ่อ ประจำปี ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 จนถึง แรม 3 ค่ำ เดือน 5
งานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงทุกงาน จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนจากใกล้ไกลที่มีจิตศรัทธาอย่างแรงกล้าเพื่อมากราบไหว้องค์หลวงพ่ออย่างแท้จริง เพราะทุกคนเชื่อว่า หลวงพ่อไม่ได้เป็นแค่พระอิฐพระปูนธรรมดาๆเท่านั้น
(ตำนาน พุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์ -ห้าพี่น้องลอยน้ำ)

วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

พุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์-ห้าพี่น้องลอยน้ำ-หลวงพ่อบ้านแหลม

       พุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์  พระพุทธรูป 5 องค์ที่ลอยน้ำมาด้วยกันจากทางเหนือนั้น มีเพียงองค์เดียวที่ป็นพระพุทธรูปยืน คือองค์ที่ลอยไปตามแม่น้ำแม่กลอง แล้วขึ้นสถิตอยู่ที่วัดบ้านแหลม อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ก็คือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าหลวงพ่อบ้านแหลมนั่นเอง

ประวัติความเป็นมา สำหรับหลวงพ่อบ้านแหลม มีตำนานอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรี ได้พากันมาจับปลาในทะเล ขณะที่ลากอวนอยู่นั้นได้ลากพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยติดอวนขึ้นมาองค์หนึ่ง ทุกคนต่างดีใจมาก จึงอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นบนเรือ แล้วพากันล่องกลับเข้าฝั่ง แต่ระหว่างทางคนในเรือได้แลเห็นพระเกศของพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งลอยปริ่มๆน้ำอยู่ไม่ไกลนัก จึงร้องบอกให้ทุกคนทราบ แล้วเทียบเรือเข้าไป จึงได้พบพระพุทธรูปยืน ทุกคนต่างอัศจรรย์ใจเป็นที่สุดที่พระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองแต่ลอยอยู่ในน้ำได้ จึงพากันกราบนมัสการด้วยความเลื่อมใสในอภินิหารและอิทธิฤทธิ์ที่ได้พบเห็น แล้วอาราธนาขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่ง



       พอเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลองตอนหน้าวัดศรีจำปา ได้เกิดอาเพทคล้ายกับว่า พระพุทธรูปยืนท่านประสงค์ที่จะอยู่วัดนี้ จึงทำให้ฝนตกหนัก ลมพายุพัดจัด จนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น เรือลำที่พระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่นั้น ทนคลื่นลมไม่ไหว จึงเอียงวูบไป พระพุทธรูปที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายไปในแม่น้ำ ชาวบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ต่างช่วยกันดำน้ำค้นหาอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่พบ จึงตกลงว่าไม่ค้นหากันต่อไปอีก จึงนำพระพุทธรูปองค์นั่งองค์ที่เหลืออยู่ไปยังถิ่นของตนและนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี กาลต่อมาชาวบ้านศรีจำปาต่างช่วยกันลงดำน้ำค้นหาพระพุทธรูปที่จมอยู่นั้น และอาจเป็นด้วยเพราะอภินิหารของหลวงพ่อที่จะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านศรีจำปา จึงทำให้ชาวบ้านศรีจำปาดำน้ำจนพบและอาราธนาไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา ครั้นชาวประมงบ้านแหลมครั้นรู้ข่าวว่าชาวบ้านศรีจำปาพบพระพุทธรูปของตนที่จมน้ำ จึงยกขบวนกันมาทวงพระคืน แต่ชาวบ้านศรีจำปาไม่ยอมให้ จนเกือบจะเกิดศึกกลางวัดขึ้น แต่ด้วยอภินิหารของหลวงพ่อและการมีเหตุผลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ก็สามารถประสานสามัคคีตกลงปรองดองกันได้ ฝ่ายชาวประมงบ้านแหลมจึงยินยอมยกพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรให้ชาวบ้านศรีจำปาไป แต่มีข้อแม้ว่าต้องเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ เป็น"วัดบ้านแหลม" เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ชาวบ้านแหลมได้พระพุทธรูปมาแต่แรก ตั้งแต่นั้นมาวัดศรีจำปา จึงได้นามว่า วัดบ้านแหลมมาจนทุกวันนี้ และขนานนามพระพุทธรูปยืนว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม" ต่อมาวัดบ้านแหลมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชั้นวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามว่า วัดเพชรสมุทวรวิหาร


พุทธลักษณะ
หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร หล่อด้วยทองเหลืองแบบสมัยสุโขทัยตอนปลาย ภายในโปร่ง ส่วนสูงประมาณ 170 เซนติเมตร (บ้างว่าสูงประมาณ 2 เมตร 80 เซนติเมตร) แต่บาตรเดิมนั้นได้สูญหายไปในทะเลก่อนที่ชาวประมงจะได้จากทะเลปากอ่าวแม่กลอง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้เสด็จมานมัสการและได้ถวายบาตรแก้วสีเงินแก่หลวงพ่อบ้านแหลมดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

ความศักดิ์สิทธิ์
ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ้านแหลมนั้นเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ไม่ว่าเป็นทางก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง ทางแคล้วคลาด ทางรักษาโรค และเรื่องอื่นๆอีกมาก แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงทราบ อีกทั้งสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ก็ทรงเลื่อมใส ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา ของรัชกาลที่ 6 ที่พระราชทานมายังพระครูมหาสิทธิการ(แดง) ความว่า "ปีกลายนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จไปยังเมืองสมุทรสงคราม ในกระบวนหลวง ได้รับสั่งให้คนนำเครื่องสักการะไปถวายหลวงพ่อบ้านแหลม และได้รับสั่งไว้แต่ครั้งนั้นว่า ขอผลอานิสงส์ความทรงเลื่อมใส จงบันดาลให้หายประชววร ครั้นเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯได้ไม่นานก็หายประชวร จึงทรงระลึกถึงที่ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานไว้สมพระประสงค์ โปรดพระราชทานปัจจัยเป็นมูลค่า 800 บาท มาเพื่อช่วยในการปฏิสังขรณ์วัดบ้านแหลม ข้าพเจ้าได้ส่งมาให้ท่านพระครูทางกระทรวงธรรมการแล้ว" อีกประสบการณ์หนึ่งจากผู้ที่รอดชีวิตเพราะบุญญาบารมีของหลวงพ่อคุ้มครอง คือ นายชิต เข้มขัน อดีตนายด่านศุลการกร สมุทรสงคราม ได้ประกอบอาชีพเป็นกัปตันเรือเดินทะเลระหว่างกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ คราวหนึ่งเรือถูกพายุอัปปางลง เขาต้องลอยอยู่ในทะเลหลายชั่วโมง จวนหมดกำลังจมน้ำอยู่แล้ว ก็นึกถึงหลวงพ่อบ้านแหลมขึ้นมาได้ จึงขอให้หลวงพ่อช่วย ขณะนั้นเรือที่เดินอยู่ในทะเลได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วยจึงหันหัวเรือตามหา แต่เดือนมืดมองไม่เห็น เรือแล่นวนเวียนอยู่สักครู่ก็จะหันหัวเรือกลับ แต่ก็ได้ยินเสียงคนร้องเรียกให้ช่วยอยู่เรื่อย จึงค้นหาอีกจนพบนายชิตลอยคออยู่จวนจะจมน้ำ เมื่อเอาตัวขึ้นมาบนเรือนั้นนายชิตสลบไม่ได้สติ ต้องแก้ไขอยู่นาน พอฟื้นจึงพากันซักถามว่าตะโกนให้ช่วยหรือเปล่า นายชิตบอกว่าไม่ได้เรียกให้ช่วย เป็นแต่คำนึงถึงหลวงพ่ออยู่ในใจ ขอให้หลวงพ่อช่วย เท่านั้นเอง

บนบานศาลกล่าว
เรื่องการบนบานขอให้หลวงพ่อบ้านแหลมช่วยเหลือนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันมาว่า ท่านช่วยทุกเรื่องที่คนเข้ามาขอความเมตตา ยกเว้นเรื่องทหาร หากมาขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร คนนั้นเป็นต้องถูกเกณฑ์อย่างแน่นอน เพราะกล่าวกันว่าท่านชอบทหารนั่นเอง และเมื่อสิ่งที่บนบานไว้ได้ดังประสงค์ มักจะนิยมแก้บนกันด้วยพวงมาลัยเป็นส่วนใหญ่ จะมีประทัดบ้างก็ประปราย

ที่พึ่งของชาวประมง
ทุกวันนี้ก่อนออกเรือหาปลา ชาวประมง สมุทรสงคราม จะกราบไหว้และขอพรหลวงพ่อบ้านแหลมให้คุ้มครองพวกตนพ้นจากภยันตราย และกลับมาโดยสวัสดิภาพ และได้ปฏิบัติเช่นนี้ต่อๆกันมาตราบจนทุกวันนี้

บทความหน้าโปรดติดตามเรื่องราวของ"หลวงพ่อวัดไร่ขิง" จังหวัดนครปฐม นะครับ